จากกฏหมายคุ้มครองนโยบายความเป็นส่วนตัว ทางเว็บไซต์ www.cosmenet.in.th ขออนุญาตเก็บ ข้อมูลเพื่อนำไปใช้พัฒนาการให้บริการทางเว็บไซต์ ท่านสามารถอัปเดตข้อมูลส่วนตัว และทำความเข้าใจก่อนการยินยอมได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตกลง
ใครว่า “ความดันโลหิตสูง Hypertension ไม่อันตราย”
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ จึงเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว บางท่านถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรก ๆ สามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่นกัน แล้วความดันโลหิตสูงมีอาการอย่างไร สาเหตุของความดันโลหิตสูงมาจากอะไรได้บ้าง วันนี้เราพามาทำความเข้าใจกันค่ะ
มารู้จักความดันโลหิตสูงกันเถอะ ความดันโลหิตสูงคืออะไร
สภาวะผิดปกติที่บุคคลมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่ และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องควบคุม เนื่องจากความดันโลหิตสูงทำให้เกิดความเสียหายและการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่สภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือด หรือหลอดเลือดแตกได้ นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม หรือโรคไตวายเรื้อรัง
เมื่อไหร่ ? เรียกว่าความดันโลหิตสูง
การวัดความดันโลหิตสูง ค่าความดันที่วัดได้จะออกมา 2 ค่า คือ ค่าความดันตัวบนและค่าความดันตัวล่างตัวเลข
- ค่าความดันตัวบน คือ ระดับความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว
- ค่าความดันตัวล่าง คือ ระดับความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว
ซึ่งตัวเลขทั้งสองค่าจะรายงานเป็นมิลลิเมตรปรอท (mm/Hg)
ระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูงผิดปกติ คือ ค่าความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 mm/Hg ขึ้นไป หรือค่าความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 mm/Hg ขึ้นไป โดยระดับความดันทั้ง 2 ค่า ยิ่งสูงมากก็ยิ่งจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้มากขึ้นตามลำดับ
คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่
- ปวดศีรษะ
- มึนงงศีรษะ
- คลื่นไส้, อาเจียน
- เหนื่อยง่าย
- หน้ามืดเป็นลม
เหล่านี้คือกลุ่มอาการที่พบบ่อยๆ ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
สาเหตุของความดันโลหิตสูง
มากกว่า 90 % เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) มักพบได้บ่อยในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง อายุมาก
ส่วนใหญ่กลุ่มที่ทราบสาเหตุพบได้น้อย ซึ่งเกิดได้ในผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้วเช่น โรคไต หลอดเลือดที่ไตตีบ ครรภ์เป็นพิษ เนื้องอกบางชนิด โรคทางต่อมหมวกไต ยาบางอย่าง เป็นต้น
การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรคของผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงขึ้นอยู่กับ
1. ระดับความดันโลหิตสูงมาก ยิ่งความดันโลหิตสูงมากและระยะเวลาที่เป็นนาน ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ หลายระบบตามมา
2.การมีโรคอื่นร่วมและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอัมพาต การที่มีปัจจัยเสี่ยงมาก มีโรคร่วมหลายโรค ยิ่งทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี
เพื่อก้าวไปสู่สภาวะความดันปกติ ถามตัวเองว่าท่านปฏิบัติตามนี้แล้วหรือยัง
1.มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย = 18.5-25 กิโลกรัม/เมตร2)
2.มีรอบเอวที่เหมาะสมกับส่วนสูง (รอบเอว = ความสูง2)
3.ดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นการพักผ่อนให้เพียงพอ
4.บริโภคอาหารตามข้อปฏิบัติการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แก่สุขภาพ
5.จัดการเวลาและมีทักษะเผชิญต่อความเครียด
6.เรียนรู้และปฏิบัติตัวตามข้อปฏิบัติและคำแนะนำของแพทย์และทีมดูแลสุขภาพ
7.ไม่สูบบุหรี่
8.ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์
9.ลดปริมาณเกลือแกงหรือโซเดียมในอาหาร โดยจำกัดการใช้เกลือในการปรุงอาหารหรือเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูงหรือรสเค็มจัด เช่นอาหารกระป๋อง อาหารกินเล่น อาหารแช่แข็งและปรุงสำเร็จ อาหารใส่ผงชูรส เป็นต้น เมื่อจับจ่ายซื้ออาหารสำเร็จรูป อ่านฉลากกำกับทุกครั้งและเลือกซื้ออาหารที่ระบุชัดเจนว่ามี “โซเดียมต่ำ” หรือ “ไม่ใช้เกลือ” เท่านั้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ใช้เครื่องเทศแทนการใช้เกลือ เช่น น้ำส้ม มะนาว กระเทียม ขิง หัวหอม เป็นต้น เลือกรับประทานอาหารสด ผัก ผลไม้ ผัก ข้าว และขนมปังเป็นต้น
ความดันโลหิตสูง
มากกว่า 180/110 = สูงมาก อันตราย
160-179/100-109 = สูงปานกลาง
140-159/90-99 =สูงเล็กน้อย
การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดลือดแดงเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต จึงทำให้หลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตัน เป็นอัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูงยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมาได้ การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทุกคนควรใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น จำง่ายๆ ด้วยปฏิบัติการ 4 อ. ดังนี้ อ. อาหาร ให้ครบ 5 หมู่ อย่างเหมาะสม / อ. อากาศ ให้บริสุทธิ์ ไม่มี มลภาวะ /อ. อารมณ์ ให้แจ่มใส และอ.สุดท้าย ออกกำลังกาย ให้สม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะห่างไกลจากโรคหัวใจและโรคร้ายอื่น ๆ แล้วล่ะค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/HYPERTENSION.php