ฟังดูก็รู้ว่าเป็นภาษามอญ ก็เมือง มะละแหม่ง เป็นเมืองมอญเก่าแก่ของ ประเทศพม่า และยังเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ3 ของพม่า รองจากย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ด้วย ซึ่งเสน่ห์ของมะละแหม่งคือเป็นเมืองชนบทที่แม่น้ำ 3 สายไหลมาพบกัน คือสาละวิน ไจ และอัตรัน ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ คิดดูก็แล้วกันว่าทั้งในยามพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจะงดงามขนาดไหน เมื่อเมืองๆนี้ล้อมรอบไปด้วยผืนน้ำ ตึกเก่าโคโลเนียล ขุนเขา และทุ่งนา
ตำนานรักและโศกนาฎกรรมของเจ้าน้อยศุขเกษม
ด้วยบรรยากาศอันโรแมนติกในยุคหนึ่งที่เมืองท่าแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสันของวิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก ณ เมืองมะละแหม่งนี้เอง ได้เกิดตำนานรักโรแมนติกอันโด่งดังขึ้น เมื่อคุณหนูทายาทเจ้าแห่งนครเชียงใหม่ ได้เดินทางไปเรียนภาษาที่เมืองมะละแหม่ง และพบรักกับสาวมอญขายบุหรี่ที่ชื่อมะเมียะ ซึ่งแน่นอนว่าลูกเจ้ากับสาวมอญขายบุหรี่ ความรักย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้น ซึ่งก็จบลงด้วยความตายของเจ้าน้อยจากอาการตรอมใจในวัยเพียง 33 ปี ส่วนสาวมะเมียะก็ไปบวชชีจนมรณะภาพเมื่ออายุ 80 ปี เรื่องเล่าขานนี้โด่งดังมานานในบรรยากาศอันงดงามของเมืองมะละแหม่ง
เที่ยวโบสถ์และเจดีย์เก่า 2 ศาสนา
เพราะเป็นเมืองที่อังกฤษเคยเข้ามายึดครองและใช้เป็นเมืองท่า จึงเคยเป็นเมืองปากแม่น้ำที่สำคัญของพม่ามาก่อน ซึ่งร่องรอยที่หลงเหลือให้เห็นคือสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ไปจนถึงวัดเก่าแก่ พระพุทธรูปอันงดงาม และเจดีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองพม่า สำหรับเมืองมะละแหม่งแห่งนี้ คงต้องพลาดไม่ได้กับการแวะไปเยือนวัดและโบสถ์คริสต์ที่เก่าแก่พอๆกับความรุ่งเรืองของรัฐมอญที่ชื่อเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง
เจดีย์ที่วัดไจ๊ตะหลั่น
เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์สีทองของเมืองมะละแหม่งแห่งนี้ ตั้งสง่าโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คอยู่บนเนินเขา ซึ่งที่นี่เอง ที่เจ้าน้อยและมะเหมียะได้มาสาบานรักกัน
องค์เจดีย์ไจ๊ตะหลั่นมีความสูง 150 ฟุต กว้าง 45 ฟุต สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสามตาเมื่อปี ค.ศ.875 โดยพระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระเกศา และพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐาน และสร้างเจดีย์ครอบเอาไว้
การขึ้นไปสักการะองค์พระเจดีย์ เราสามารถเดินขึ้นบันไดพิสูจน์พลังวัยหนุ่ม-สาว กับความแข็งแรงก็ได้ หรือจะขึ้นลิฟท์ไปก็ได้ด้วย
หลังจากสักการะองค์พระเจดีย์เสร็จ ต้องไม่พลาดกับจุดชมวิวด้านบนที่จะมองเห็นเมืองมะละแหม่งกันแบบรอบทิศ ไกลไปจนถึงผืนน้ำที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่งดงามมาก ชาวมะละแหม่งจึงนิยมขึ้นมานั่งชมเมือง และทานข้าวกันข้างบนนี้ หรูหรากว่านั่งทานบุฟเฟ่ต์บนตึกสูงในเมืองเยอะเลย
โบสถ์โฮลี่ แฟมิลี่
โบสถ์คาธอลิคเก่าแก่และงดงามของเมืองมะละแหม่ง ที่เดิมทีจะเล็กนิดเดียว แต่ถูกทุบและสร้างขึ้นใหม่จนสวยงามอย่างที่เห็น
เดินตลาด
เพราะมะละแหม่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกเก่าแก่จากยุคล่าอาณานิคม แต่เมื่ออังกฤษเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋ากลับบ้านไปนานแล้ว ตึกสวยเก่าแก่จึงกลายมาเป็นตึกเก่าของจริง เพราะขาดการทำนุบำรุง ทื้งร่องรอยอิฐผุพัง สึกกร่อน สีสันบนกำแพงและผนังที่ซีดเซียวหลุดลอกให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่ก็ดูงดงามแปลกตาแตกต่างกันไปในแต่ละมุม เป็นความต่างในอารมณ์ของมะละแหม่ง ที่มีสีสันน่าเดินชมไม่น้อย การเดินเที่ยวตลาดจึงเพลินตาและอิ่มอร่อยกับการแวะชิมแวะชอป
มุมที่น่ารักอีกมุมก็คือคนพม่ายังนิยมเคี้ยวหมากกันอยู่เลยและไม่ใช่เฉพาะคนแก่เฒา แต่รวมถึงวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เวลายิ้มกันทีฟันของเขาและเธอจะกลายเป็นสีแดงอมส้ม สวยแบบเมียนม่าร์ของแท้กันไปหมด เพราะเหตุนี้เราจึงจะเห็นรถเข็นเก๋ไก๋มากมายในตลาดจอดให้บริการเติมสีหมากให้ฟัน เพื่อชีวิตอินเทรนด์แบบมะละแหม่งเสมือนแฟชั่นเหล็กดัดฟันในบ้านเราเลยทีเดียว ใครอยากลองของก็ควรอยู่ เพื่อให้ได้เข้าถึงวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่อยู่ห่างออกไปจากแม่สอดเพียงร้อยกว่าโลเท่านั้น
อาหารพม่า
อาหารพม่ารสชาติไม่จัดจ้านเหมือนอาหารไทย แม้บางจานจะสีสันจี๊ดจ๊าดแต่รสชาติกลับไม่ถึงใจคนไทยที่ชอบรสจัด อีกทั้งออกจะมันๆ ส่วนอาหารทะเลของมะละแหม่งก็ไม่ควรพลาดเพราะสด อร่อย และไม่แพงมาก หรือถ้าไม่อยากชิมอาหารพม่าก็ยังมีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการอยู่หลายร้าน นอกจากนี้ชาวมะละแหม่งหลายคนก็เคยมาทำงานในเมืองไทย จึงพูดภาษาไทยกันได้ การท่องเที่ยวเมืองมะละแหม่งจึงสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้เหมือนกับเวลาไปเที่ยวประเทศลาว แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์เที่ยวเมืองนอก (ที่อยู่ห่างจากไทยเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร) ก็ไปฝึกใช้ภาษาอังกฤษกันได้เลย อย่างที่บอกนั่นแหละ การที่ถูกอังกฤษยึดครองอยู่นานก็ทำให้คนพม่าเก่งภาษากันจริงๆ
นอกหน้าต่างห้องพัก
ที่เมืองมะละแหม่งจะมีห้องพักริมแม่น้ำสาละวินที่ควรจองกันไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง เพราะว่ากันว่าที่พักมักจะเต็มเสมอหลังจากพม่าเปิดประเทศให้เข้าไปเทียวกันได้ง่ายขึ้น
จากวิวของแม่น้ำสาละวินอันกว้างใหญ่นอกหน้าต่าง จะเห็นฝั่งเมาะตะมะ ที่เราสามารถนั่งเรือข้ามไปเที่ยวได้ หรือจะนั่งรถโดยสารข้ามสะพานที่ยาว 3 กิโลเมตรไปก็ได้อีกเหมือนกัน
การเดินทางสู่มะละแหม่ง
ตั้งแต่ประมาณปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา สายการบินนกแอร์ เปิดเส้นทางการจากสนามบินแม่สอดถึงสนามบินมะละแหม่งภายใน 30 นาที ใกล้ยิ่งกว่าบินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายเสียอีก แต่ ณ วันนี้ที่ตารางการบินมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคอยติดตามสถานการณ์จากนกมินิกันดูอีกทีว่าจะกลับมาบินอีกหรือไม่ แต่ถ้าอยากไปเยือนเมืองชนบทปากแม่น้ำแห่งนี้จริงๆ ก็สามารถบินไปลงที่ย่างกุ้งแล้วบินต่อมายังมะละแหม่งในเวลา 30 นาที หรือถ้าคุณทรหดพอและอยากประหยัดกว่า ก็มีรถโดยสารวิ่งจากแม่สอดให้บริการ แต่ใช้เวลา4-6 ชั่วโมงเลยทีเดียวกับระยะทางเพียงร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น
ที่เมืองมะละแหม่งแห่งนี้ ถือได้ว่าวิถีชีวิตของชาวพม่า มอญ ยังบริสุทธิงดงามอยู่มาก แล้วยังเป็นเมืองที่รวมหลายเชื้อชาติเอาไว้ ทั้งพม่า มอญ อินเดีย ยะไข่ กะเหรี่ยง และชาวจีน ในบรรยากาศของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ผสมผสานกับอาคารของพม่าชนบท และโบสถ์คริสต์ ไปจนถึงเจดีย์สีทองอร่ามในวัดไทยหลายวัด สุเหร่าเก่าแก่ของอิสลาม กับทุ่งนาและขุนเขาที่มองเห็นอยู่ลิบๆ
เมื่อพม่าเนื้อหอมขนาดนี้ เราก็ควรไปเยือนเสียตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก แล้วอะไรจะเกินฝันไปกว่าการได้เข้าถึงวัฒนธรรมชนบทที่ยังมีความเป็นมอญ พม่า ในภาพของอดีตที่เราแอบจินตนาการกันไว้เมื่อนานมาแล้ว วันนี้เมืองมะละแหม่ง เมืองใกล้เรือนเคียงที่อยู่ห่างจากไทยเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร กำลังรอให้เราเข้าไปสัมผัส ณ ริมฝั่งที่แม่น้ำสามสายไหลมาพบกัน ในช่วงเวลาที่อดีตอันงดงามกับปัจจุบันซึ่งเนิบช้ายังคงดำเนินไปด้วยกันอย่างกลมกลืน