ใครยังไม่เคยนั่งเรือด่วนท่องเที่ยวชมกรุงกับเรือด่วนเจ้าพระยาบ้างเอ่ย รู้ไหมว่านี่แหละคือการเดินทางที่สนุกที่สุดแบบที่รถไม่ติด ไม่ต้องนั่งดมควันจากท่อไอเสียบนท้องถนน ไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ นั่งอ่านหนังสือ หรือจิ้มมือถือ ก็ไม่เวียนหัวตาลาย ลมพัดเย็นสบาย วิวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็สวยงามจนชาวต่างชาติยอมซื้อดินเนอร์ล่องแม่น้ำในราคาหลักพันกับเวลา 3 ชั่วโมง แต่ใครอยากชมวิวเดียวกันแบบพกดินเนอร์ไปเองไป-กลับ ท่าน้ำนนท์-ท่าเรือวัดสิงขร (แล้วเดินไปเอเชียทีค) ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.ต่อเที่ยว แต่เราจะแวะเที่ยวแวะชิมระหว่างทางไปด้วย ขึ้น-ลง หลายท่า 15 บาท ตลอดสาย
เที่ยวทางเรือกับเรือด่วนเจ้าพระยา 150 บาท 8 ท่าเรือ
หรืออีกทางเลือกกับบริการที่เรือด่วนเจ้าพระยากับรถไฟฟ้าบีทีเอสเขาร่วมกันนำเสนอเทรนด์ เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา 150 บาท แวะเที่ยวแบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ตั้งแต่ท่าเรือสาทร-ท่าพระอาทิตย์ และแวะจอดตามท่าเรือที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือมหาราช ท่าเรือวังหลัง และสุดทางที่ท่าเรือพระอาทิตย์ ซึ่งเรือท่องเที่ยวลำนี้จะวิ่งกันตั้งแต่ 9.30 - 19.30 น. โดยเรือจะออกจากท่าเรือสาทรทุกครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าใครอยากลองแวะเที่ยวที่ใหม่ๆ ก็จ่ายเที่ยวละ 15 บาท ก็ได้นะ
เรือที่จ่าย 15 บาทตลอดสาย คือ เรือด่วนธงส้ม แต่ถ้าใครอยากนั่งใกล้ๆ ในราคาถูกกว่าก็เลือกแบบไม่มีธง เริ่มต้นที่ 10 บาท, 12 บาท และ 14 บาท ราคาตามระยะทาง แต่เรือไม่มีธงลำนี้ให้บริการถึงแค่ 16.30 น. ไม่เหมือนเรือธงส้ม ที่วิ่งถึง 19.00 น. ส่วนใครที่เที่ยวเพลินกลับไม่ทันเที่ยว 19.00 น. ก็ให้กระโดดขึ้นเรือธงเหลือง ด่วนพิเศษ ค่าโดยสาร 20/29 บาท ตามระยะทางและไม่ได้จอดทุกท่านะคะ เช็คดูบนแผนที่ตรงท่าเรือได้เลย หรือดูใน เว็บไซต์ของเรือด่วนเจ้าพระยา ได้ไปหาที่เที่ยวใหม่ๆ ตามท่าเรือกัน
วัดเขียน ณ ท่าเรือวัดเขียน
เรือธงส้มจะจอดที่วัดเขียนเป็นท่าเรือที่ต่อจากพิบูลย์สงคราม2 คือพอนั่งจากท่าน้ำนนท์มาจอดไปท่าเดียวก็เตรียมลงได้เลย แล้วมีอะไรที่วัดเขียน ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อหนอ...ต้องบอกว่าวัดเขียนนั้นเก่าแก่มาก วัดเขียนอยู่ในอำเภอบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2323 นับย้อนไปก็จะอยู่ประมาณกรุงธนบุรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักกรีทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2325)
สิ่งที่น่าสนใจคือ สถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนหลายๆ วัดสมัยใหม่ พื้นปูแบบไม่ได้ลงเสาเข็มแต่ขุดหลุมแล้วนำซุงไปขัดไว้เป็นชั้นๆ จึงย้ายโบสถ์ยกไปไหนไม่ได้ ภายในวัดจะมีภาพเขียนสวยงาม และมีการใช้เครื่องถ้วยชามสังคโลกมาประดับไว้หน้าบรรณของพระอุโบสถ
ศักการะหลวงพ่อเก้าที่วัดค้างคาว ท่าเรือวัดค้างคาว
เก่าแก่กว่าวัดเขียน เพราะวัดค้างคาวสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีหลวงพ่อเก้าที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วผนังด้านหน้าโบสถ์ มีลักษณะเป็นพระปางห้ามญาติ โดยโบสถ์แห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และที่วัดแห่งนี้เจดีย์เก่าแก่อยู่หลางองค์ด้วย เมื่อไม่นานมานี้ทางวัดได้ทำการบูรณะกำแพงแก้วที่เพิ่งขุดพบ บุรณะทาสีองค์เจดีย์เก่า 10 องค์ ฐานเสมา และพระพุทธรูปในโบสถ์โดยใช้เงินบริจาคจากผู้ศรัทธา โดยไม่ได้ใช้เงินรัฐ ใครสนใจอยากไปสักการะ ไปไหว้พระ ต้องแวะเลย
แวะพักทานข้าวและให้อาหารปลาที่ท่าเทเวศร์
มาถึงท่าเรือเทเวศร์ ลงมาให้อาหารปลาเสียหน่อย เขามีอาหารปลาขาย นั่งเพลินๆ ถ้าเราแวะเที่ยวสองวัดแรกจนมาถึงตรงนี้ประมาณเที่ยง ก็นั่งวินออกไปปากซอยแล้วเดินหาของกินต่อดีกว่า แถวเทเวศร์มีร้านอาหารอร่อยๆ ริมถนนเยอะมากไม่แพ้บางลำพู หรือถ้าใครอยากแวะไปหาหนังสืออ่านในหอสมุดแห่งชาติก็ใกล้นิดเดียว วางแผนกินวางแผนเที่ยวกันเลย
ถ้าชอบทานก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาแนะนำ ร้านลิ้มฮั่วเฮง ที่บะหมี่อร่อยมากและลูกชิ้นปลาก็เด้งดึ๋งไม่คาว ร้านอยู่แถวธนาคารกสิกรไทยสาขาเทเวศร์ เปิดวันจันทร์ถึงเสาร์ 6.30-16.30 น. นอกจากนี้ยังมีร้านข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ขนมเบื้องอร่อยอีกเยอะ เดินเล่นเดินชิมกันเลย แล้วเดินเข้าซอยหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ไปท่าเรือเพื่อไปต่อค่ะ
ชมสถาปัตยกรรมและไปนวดสักหน่อยที่วัดโพธิ์
ถึงท่าเรือท่าเตียน ก็ลงไปเดินเสียหน่อย อิ่มแล้วก็ไปวัดแวะ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดอารามหลวงชั้นเอก วัดประจำราชการที่ 1 แห่งราชวงศ์จักกรี ไปไหว้พระและทักทายยักษ์ในตำนาน ยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์วัดโพธิ์ที่ต่อสู้กัน โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ
วัดแห่งนี้มีความงดงามมากสมกับเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดินกันจนเพลินบนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ พอเหนื่อยก็ต้องแวดนวดสักหน่อย โดยนวดไทย ชั่วโมงละ 260 บาท นวดเท้า ชั่วโมงละ 420 บาท ครึ่งชั่วโมง 280 บาท ส่วนนวดประคบสมุนไพร 1 ชม. 360 บาท
แวะเติมคาเฟอีนและขนมปังอร่อยที่ ท่าเรือสี่พระยา
นั่งเรือมาไม่ไกลก็ถึงท่าเรือสี่พระยา แวะสักนิดแล้วเดินย้อนกลับมาตรงท่าเรือข้ามฟากไปคลองสาน แต่ไม่ต้องข้ามไปไหนนะ ให้มานั่งชิลกับกาแฟ เบเกอรี่ริมแม่น้ำข้างโรงแรมเชอราตัน รับลมเย็นสบายจากแม่น้ำ แล้วลองเดินเล่นไปใกล้ๆ เข้าไปชมความงามของ โบสถ์กาลหว่าร์ หรือโบสถ์แม่พระลูกประคำ ซึ่งเป็นโบสถ์คาทอลิคเก่าแก่ในกรุงเทพฯ อยู่ก่อนถึงกรมเจ้าท่า เดินสบายๆมีของกินข้างทางเยอะเลย
ความเป็นมาของโบสถ์แห่งนี้คือเป็นชาวคริสตัง หรือจริงๆ ก็คือคริสเตียนนิกายคาทอลิค ได้หลบหนีพม่าที่บุกมายึดกรุงศรีอยุธยาและไม่ยอมรับมิสชั่นนารีฝรั่งเศส จึงได้อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้แต่ยังไม่มีโบสถ์ จนกระทั่งปี ค.ศ.1786 จึงได้รับพระราชทานที่ดินจากในหลวงให้สร้างโบสถ์ขึ้นมา โดยมีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ภายในตกแต่งมีรายละเอียดที่งดงามทุกซอกทุกมุม เสร็จจากการชมวัด ชมโบสถ์แล้ว เราจะนั่งเรือต่อไปยังถิ่นของชาวมุสลิมในกทม.บนถนนเจริญกรุงกันบ้าง
จากวัดราชสิงขรสู่เอเชียทีค
เอเชียทีค แหล่งกินดื่ม ช้อป ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ แม้จะโด่งดังเกินหน้าความเป็นมาของถนน แต่ก็ทำให้ถนนเส้นนี้คึกคักมากขึ้น การเดินทางโดยเท้าจากท่าเรือวัดราชสิงขรไม่ได้ไกลอะไรนัก และยังทำให้เราได้เดินเตร็ดเตร่อยู่บนถนนเส้นนี้อีกด้วย
ถนนเจริญกรุง เขตบางคอแหลม นั้น เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิมเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่เก่าแก่แทบจะพอๆ กับกรุงเทพ และไม่ได้มีเพียงมุสลิม ยังมีทั้งชาวไทยพุทธและจีนที่เข้ามาตั้งรกรากกันตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น บนถนนเส้นนี้จึงมีทั้งอาหารจีนอร่อยๆ และอาหารอิสลามออร์ริจินอลอยู่หลายร้าน สำหรับดินเนอร์คืนนี้ แนะนำให้เลือกหาร้านอาหารเก่าแก่แถวนี้รับประทาน หลังจากเดินช้อปกันที่เอเชียทีคแล้ว ส่วนใครมองหาร้านดื่มกันต่อก็ย้อนกลับไปเอเชียทีคนี่แหละ
หากเพลินกันกับการกิน ดื่ม ช้อป ที่เอเชียทีคจนค่ำมืด ก็คงต้องเลือกกลับรถแท็กซี่ หรือรถไฟฟ้ากัน แต่ถ้าใครจบทริปเร็ว ก็ไปรอเรือจากท่าเรือวัดราชสิงขรกันได้ โดยเรือเที่ยวสุดท้ายจะออกจากท่าเรือตอน 19.00 น. แต่แนะนำเลยว่า อยากให้กระโดดขึ้นเรือให้ทันช่วง 5.30 น. เพื่อจะได้ไปทันเห็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่วัดอรุณกัน แล้วใครจะขึ้นที่ท่าไหนก็สะดวกที่สุดกับเรือธงส้มที่จอดทุกท่า วันนี้ขึ้น-ลง ยังไงก็ไม่ถึง 200 บาท สำหรับค่าเรือ ส่วนค่ากินกับค่าช้อปไม่สามารถประเมินได้ อันนี้ก็แล้วแต่จะดีไซน์ชีวิตกันไปเลยค่ะ