ฝนตกรถติด เป็น Negative Thinking แต่ ฝนตกอากาศดี๊ดีไปเที่ยวดีกว่า จะเป็น Positive Thinking มาก ในเมื่อฝนตกหนัก ไม่อยากเปียกเกินพอดี เอาแค่ชุ่มฉ่ำไม่มีแดดมาแผดเผา แบบนี้ไม่ต้องไปไกล หยิบกระโปรงบานรัดเอวกิ่ว ย้อนยุคไปประมาณสักเกือบ 100 ปี แต่งตัวเป็นคุณหนูไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก กันดีกว่า หยิบร่มสวยไปด้วยนะเออ จะได้ไม่เปียกฝน
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีอีกชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาวกรุงเทพฯ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Bangkok Folk Museum เป็นบ้านไม่เก่าสวยมากบนถนนเจริญกรุง 43 โดยเป็น 1 ในทั้งหมด 27 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร เจ้าของบ้านคือเดิมคือ คุณวราภรณ์ สุรวดี ได้มอบบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นมรดกของคุณแม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาวิถีชีวิต เรื่องราวของความเป็นอยู่ของชุมชนชาวบางรักเมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเคยเป็นย่านตากอากาศ ชุมชนนานาชาติ เป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา
เข้าไปในบ้านจึงจะได้เห็นเลยว่า แม้จะเป็นบ้านเก่า แต่ก็ดูเป็นบ้านที่ทันสมัย มีฐานะในยุคนั้น โดยเรือนใหญ่เป็นบ้านไม้หลังคาปั้นหยา ชั้นล่างเป็นห้องรับแขก มีโถงที่พอเข้าประตูมาจะแยกไปสู่ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร และห้องหนังสือได้ แต่ห้องรับแขกก็จะมีทางเข้าจากระเบียงหน้าบ้านอีกประตูด้วย ข้างบันไดขึ้นชั้นสองจะเป็นห้องน้ำ ที่สามารถเข้าได้จากข้างบันไดและจากห้องหนังสือ ผนังบ้านจะติดรูปเจ้าของบ้านและคนในครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยโบราณที่เรามักเห็นกันทั่วไปในบ้านไทย
ขึ้นไปชั้นบนจะเป็นห้องนอนสองห้อง มีห้องโถงตรงกลางมีเตียงนอนหวายสำหรับนอนพักผ่อน มีห้องแต่งตัวและห้องบรรพบุรุษ โดยห้องนอนเล็กจะเป็นเตียงนอนสี่เสา คล้าย ๆ ของห้องคุณหนูที่เราเห็นในหนังย้อนยุค มีมุ้งห้อยลงมาปิด มีโต๊ะเครื่องแป้งโบราณกับอุปกรณ์แต่งตัว ขณะที่ห้องนอนใหญ่จะมีประตูเชื่อมกับห้องน้ำส่วนตัวที่เปิดออกมาอีกด้านจะเป็นห้องแต่งตัว มีกระจกโบราณที่ไม่ใสเหมือนกระจกสมัยใหม่ แต่งดงามประณีตมาก เป็นกระจกยาวเต็มตัว ดีไซน์แบบห้องแต่งตัวของชาวยุโรปสมัยก่อน และจากห้องโถงจะเชื่อมถึงทุกห้อง รวมถึงห้องบรรพบุรุษที่จะอยู่ระหว่างห้องแต่งตัวและห้องนอนเล็ก ทุกห้องมีหน้าต่างบานยาวเปิดรับแสงจากภายนอก แต่ในวันที่ไปชมฝนตกหนัก จึงต้องปิดหน้าต่าง แสงจึงค่อนข้างมืด ได้อีกอารมณ์ แต่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดูเป็นบ้านสวยที่คล้ายกับว่าคนเก่าคนแก่ในบ้านคือผู้ใหญ่ใจดีที่ยินดีต้อนรับแขกทุกคน
กลับสู่ชั้นล่างเดินผ่านประตูหลังบ้านสู่ลานระแนงไม้ในสวนด้านนอกที่ร่มครึ้ม มีโต๊ะเก้าอี้ให้แขกผู้มาเที่ยวชมได้นั่งพักผ่อน แต่ยังเหลือบ้านอีกสองหลังให้เข้าไปชมกันได้ โดยสามารถใช้รองเท้าแตะฟองน้ำของทางพิพิธภัณฑ์ที่วางเอาไว้ให้บริการด้านหลัง
เดินผ่านความเขียวครึ้มชุ่มชื่นหลังฝนตกในบรรยากาศของบ้านไทยไปสู่เรือนสมัยใหม่แต่ยังคงผสมผสานกับดีไซน์เก่าไว้ด้วย โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ภายในและอุปกรณ์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ที่วางเรียงรายแบ่งเป็นสัดส่วนบนพื้นกระเบื้องลายสวย เป็นใต้ถุนบ้านขนาดกว้างใหญ่ที่ปิดมิดชิด ติดแอร์ไว้เพื่อเก็บข้าวของเหล่านี้ไว้โดยปราศจากความชื้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ช่าง ห้องครัวแบบโบราณ มีเตาโบราณ หินโม่แป้ง โต๊ะกินข้าว ถ้วยชามเก่าแก่ เสื้อผ้ายุคเก่า โดยมีคุณป้าท่านหนึ่งคอยดูแลให้ความสะดวก จนแม้จะเลยเวลาปิดมาเล็กน้อย คุณป้าก็ยังน่ารักวิ่งมาเปิดไฟให้เก็บภาพตามจุดต่าง ๆ
อีกเรือนใกล้ ๆ กัน เป็นบ้านเก่าของ คุณหมอฟราสซิส คริสเตียน ที่เคยปลูกอยู่บนทุ่งมหาเมฆ แต่ได้ย้ายทั้งตัวบ้านและข้าวของมาไว้ที่พิพิธภัณภัณฑ์ แต่ได้ย่อส่วนให้สร้างได้เพียงพอบนที่ดินผืนนี้ และเก็บข้าวของของคุณหมอเอาไว้เป็นอนุสรณ์ เพราะท่านได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้เข้ามาอยู่ในบ้าน คุณหมอฟรานซิส คริสเตียน เป็นชาวอินเดียผู้เรียนจบแพทย์จากประเทศอังกฤษ เป็นสามีคนแรกของคุณแม่ อ.วราพร ผู้ยกบ้านและที่ดินผืนนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ เราจะได้เห็นของของเครื่องใช้สมัยเก่ารวมถึงเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในสมัยนั้นด้วย
การเดินชมบ้านทั้งสามหลังควรใช้เวลาให้นานสักหน่อย เพราะมีรายละเอียดมากมายน่าสนใจจนไม่อาจแค่มองว่าสวยจังแล้วถ่ายรูป เซลฟี่เก็บเอาไว้ จะให้ดีควรอ่านประวัติของบ้านก่อนเดินชมจะเข้าถึงและได้บรรยากาศย้อนยุคจริง ๆ และข้อแนะนำสำคัญ ถึงแม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ควรไม่ลืมว่า บ้านทุกหลังเคยมีเจ้าของที่ต้องรักบ้านกันเหมือนเช่นทุก ๆ คน ดังนั้นการเดินเที่ยวชมจึงควรเคารพเจ้าของบ้านในอดีต ทำตัวเป็นแขกผู้น่ารัก กล่าวสวัสดีเจ้าของบ้านด้วยก็จะดีมาก ตามธรรมเนียมไทย ไป-มา ลา-ไหว้ อันงดงาม
การเดินทาง หากนำรถไป ให้เลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 43 ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง หาที่จอดรถภายในซอย แต่ถ้าไม่ได้เอารถไปก็สะดวก โดยลงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีหัวลำโพง แล้วเดินเลียบเลาะมาได้เรื่อย ๆ หรือให้สะดวกอีกทาง แนะนำให้มาโดยเรือด่วนเจ้าพระยา ลงสถานีสี่พระยาแล้วเดินออกมา ทำตัวย้อนยุคสักนิด หรือจะต่อตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็แล้วแต่
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เวลาเปิด-ปิด ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. เข้าชมฟรี โทร. 0-2233-7027 หรือจะเข้าไปติดตามได้ที่ www.facebook.com/BkkMuseum ก็ได้นะคะ