เชื่อว่าสาว ๆ ที่เริ่มต้นดูแลสุขภาพและรูปร่างหลาย ๆ คน
เจอปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกายกันแน่เลยใช่ไหมคะ? การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อต้องออกแรงมากกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อในภายหลังได้ (Delayed Onset Muscle Soreness : DOMS) ตัวอย่างกิจกรรมทางกายที่สามารถทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อภายหลังได้ เช่น การออกกำลังใช้แรงต้านหรือการยกน้ำหนัก การวิ่งลงเขา การวิ่งในทางราบ การเต้นสเต็ป แอโรบิก การกระโดด เป็นต้น อาการปวดกล้ามเนื้อนี้จะเกิดขึ้นภายใน 12 - 24 ชม. โดยทั่วไปอาการปวดนี้เป็นผลมาจากการซ่อมแซมเส้นใยกล้ามเนื้อที่ฉีกขาดจากการออกกำลังกาย โห...ฟังดูเหมือนจะน่ากลัวนะคะ แต่ว่าความรุนแรงของการปวดกล้ามเนื้อจะน้อยลงเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับการออกกำลังกายได้แล้วค่ะ
การป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกาย
สำหรับผู้เริ่มต้นออกกำลังกาย
- ควรปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เพื่อให้กล้ามเนื้อปรับสภาพหรือเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายวันเว้นวัน
- ต้องมีการอบอุ่นร่างกายทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย
- ต้องยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งหลังการอบอุ่นร่างกายและเมื่อเสร็จสิ้นการออกกำลังกายค่ะ
คำกล่าวที่ว่า “หากออกกำลังกายแล้ว ไม่เจ็บ ไม่ปวด แสดงว่าออกกำลังกายไม่ถึง” (No Pain, No Gain) เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเลยค่ะ เพราะอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้น หากเกิดขณะที่เราออกกำลังกายอยู่แล้วล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการออกกำลังกายของเรานั้นหนักเกินไป หรือท่าทางการออกกำลังกายไม่ถูกต้อง ควรต้องหยุดออกกำลังก่อนนะคะ ไม่งั้นกล้ามเนื้อหรือข้อต่อจะได้รับบาดเจ็บมากขึ้นค่ะ
เมื่อมีอาการปวด ต้องพบแพทย์หรือไม่คะ?
ไม่จำเป็นเลยค่ะ เพราะอย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าร่างกายจะซ่อมแซมเส้นใยกล้ามเนื้อได้ค่ะ แต่หากเกิดอาการอ่อนเพลีย มีการบวมแดงของกล้ามเนื้อ และปัสสาวะมีสีเข้ม ควรพบแพทย์ทันทีค่ะ!!
ใส่ใจสุขภาพ ดูแลรูปร่าง ด้วยการออกกำลังกาย
ก็ต้องใส่ใจข้อควรระวังต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยนะคะ
จะได้สนุกสนานและมีความสุขกับการออกกำลังกายกันค่ะ
Edward Stanley ได้กล่าวไว้ว่า
“If you can’t make time for exercise,
be ready to make time for illness”
ถ้าคุณไม่มีเวลาพอสำหรับการออกกำลังกาย คุณต้องเตรียมหาเวลาสำหรับการเจ็บป่วยในอนาคต