How to สะสมคะแนน Cosmenet เก็บคะแนนให้ครบทุกวัน ต้องทำยังไงบ้าง?
สาระน่ารู้

คำแนะนำ วิธีสำรวจบ้านด้วยตัวเอง หลังน้ำลด

5,230
22 พ.ย. 2554



      เวลานี้ หลายพื้นที่ในต่างจังหวัด รวมถึงในกรุงเทพฯ บางส่วน มีแนวโน้มที่ระดับน้ำลดลงบ้างแล้ว หลายคนก็ใจจดใจจ่อที่จะกลับเข้าไปทำการสำรวจความเสียหายของบ้าน หลังจากที่ต้องแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานนับเดือน ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว อาจจะไม่มีความชำนาญในการตรวจสอบ หรือสำรวจโครงสร้างบ้าน

วันนี้ PR จึงได้ไปหาข้อมูล ข้อปฏิบัติในการสำรวจภายในบ้าน ไปจนถึงโครงสร้างของบ้าน และการดูแลสุขลักษณะของบ้านหลังน้ำลดมาฝากกันคะ... ^^



ข้อปฏิบัติความปลอดภัยในการสำรวจบ้านเรือนหลังน้ำท่วม

รองศาสตราจารย์ดร. อมร พมานมาศ สถาบันเทคโนโลยี นานาชาติ สิรินธร มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รวบรวมข้อระวังในเรื่องความปลอดภัยเมื่อท่านต้องก้าวเข้าสู่บ้านของท่านครั้งแรกหลังจากน้ำท่วม ไว้ดังนี้

1.รอให้น้ำลดลงเสียก่อนจึงเข้าไปตรวจสอบภายในบ้าน อย่าเข้าบ้านในขณะที่ระดับน้ำยังสูงอยู่

2.เตรียมดินสอ ปากกา กระดาษ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ช่างต่างๆ เช่น ไขควง ตลับเมตร ท่อนไม้แห้ง ท่อพีวีซี เพื่อจดหรือบันทึกความเสียหายต่าง

3.เข้าสำรวจบ้านในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอเท่านั้น

4.สวมรองเท้าบู๊ต หรือรองเท้าเซฟตี้ และสวมหมวกเซฟตี้ เพื่อป้องกันเศษแก้ว ตะปู และของมีคนต่างๆที่น้ำพัดพาเข้ามาอยู่ในบ้านของท่าน

5.ก่อนเดินเข้าบ้าน ให้เดินสำรวจรอบบ้านเสียก่อน และเคลื่อนย้ายเศษสิ่งของต่างที่เกะกะออกไปให้พ้นทาง

6.อย่าลืมนำไฟฉายติดตัวไปด้วยเมื่อต้องกรแสงสว่างและเพื่อให้เห็นสภาพภายในบ้านได้ชัดเจนขึ้น

7.สังเกตว่ามีกลิ่นแก๊สรั่วออกมาจากบ้านหรือไม่ และห้ามทำให้เกิดเปลวไฟ หรือ สูบบุหรี่เด็ดขาด เพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ตามมา

8.สังเกตสายไฟที่อาจจะห้อยร่วงลงมาในน้ำ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำขังอยู่ เนื่องจากน้ำเป็นสื่อไฟอาจำทให้ไฟดูดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

9.เมื่อเข้ามาภายบ้าน ห้ามยกสะพานไฟขึ้นหรือเปิดแก๊สเด็ดขาด เนื่องจากไม่แน่ใจว่ามีสายไฟที่ห้อยลงมาแช่อยู่ในน้ำหรือไม่ หากต้องการแสงสว่างให้ใช้ไฟฉายเท่านั้น

10.หากสังเกตเห็นสะพานไฟหรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เปิดอยู่ต้องปิดโดยเร็ว โดยให้ยืนอยู่ในจุดที่แห้งแล้วใช้ไม้แห้งหรือท่อพีวีซีเป็นอุปกรณืในการโยกคันเบรคเกอร์ลง หาไม่แน่ใจอย่าเสี่ยงทำเอง ควรเรียกช่างไฟฟ้ามาดำเนินการ

11.ระวังกรณีที่น้ำท่วมสูงถึงฝ้าเพดาน ฝ้าเพดานที่อุ้มน้ำจะมีน้ำหนักมากและมีโอกาสร่วงลงมาทับเราได้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้ไม้แหลมๆ เจาะฝ้าเป็นระยะๆเพื่อให้น้ำไหลออกมาจะได้ลดน้ำหนักของฝ้าเพดาน

12.ระวังพื้นลื่น เวลาเดินอาจลื่นหกล้มได้ เนื่องจากพื้นอาจมีคราบโคลนที่ติดอยู่และยังไม่แห้งดี ทำให้ลื่นได้ง่าย

13.เมื่อเข้าไปภายในบ้านแล้วให้เปิดประตูและหน้าต่างออกให้หมดเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก เป็นการช่วยกำจัดความชื้นภายในบ้าน และขจัดแก๊สต่างๆที่ไม่พึงปรารถนาออกไป

14.ระวังสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ เช่น งู ตะขาบ หรือแม้กระทั่งจระเข้ ซึ่งอาจหนีน้ำเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านด้วย

15.หลีกเลี่ยงอย่าเข้าใกล้โครงสร้างที่แตกร้าวเสียหาย เพราะอาคารเหล่านั้นอาจถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ ควรปรึกษาวิศวกรโดยด่วนหากพบรอยแตกร้าวในโครงสร้างอย่างรุนแรง

16.หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อแนะนำในการเข้าตรวจสอบอาคาร ควรติดต่อโครงการสวิศกรอาสาของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย





7 ประเด็นความปลอดภัย “โครงสร้างอาคาร” หลังน้ำท่วม

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อแนะนำวิธีการสำรวจสภาพโครงสร้างและความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังน้ำท่วมซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสำคัญ โดยแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : โครงสร้างอาคาร เช่น ตึกแถว อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรรมีความแข็งแรงต่อการต้านทานแรงดันน้ำได้แค่ไหน

โดยปกติแล้วโครงสร้างบ้านเรือนที่ก่อสร้างจากคอนกรีตจะค่อนข้างแข็งแรงกว่าบ้านเรือนที่ก่อสร้างด้วยไม้ เนื่องจากมีการเสริมเหล็กเส้นอยู่ข้างใน ดังนั้นหากเป็นอาคารที่ก่อสร้างจากคอนกรีต ที่มีการออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้องตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ค่อนข้างจะแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่า จะสามารถต้านแรงดันน้ำในระดับความสูงไม่เกิน 2 เมตร โดยไม่ทำให้โครงสร้างเสียหายรุนแรงหรือพังทลาย แต่หากอาคารก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม เช่น เสามีขนาดเล็กหรือเสริมเหล็กน้อยเกินไป ก็อาจจะพบความเสียหายได้ และหากเป็นบ้านเรือนที่ก่อสร้างจากไม้ ความแข็งแรงจะน้อยกว่าบ้านคอนกรีต และมีโอกาสจะพบความเสียหายได้มากกว่าอาคารคอนกรีต

ประเด็นที่ 2 : โครงสร้างส่วนใดของอาคารมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมได้มาก

ผนังอิฐก่อ และพื้นของชั้นล่างของอาคารที่จมอยู่ในน้ำ จะเป็นส่วนที่ได้รับความเสียหายมากกว่าส่วนอื่นๆ เนื่องจากผนังและพื้นมีพื้นที่ปะทะน้ำมากกว่า ทำให้ต้องแบกรับแรงดันน้ำค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ คาน และเสา ลองคิดดูง่ายๆ น้ำที่สูง 1 เมตรจะมีแรงดันถึง 1 ตันหรือ 1000 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และหากสูง 2 เมตรก็จะมีแรงดันสูงถึง 2 ตันหรือ 2000 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ผนังอิฐหรือพื้นคอนกรีตเราไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงดันน้ำได้สูงขนาดนั้น เช่น ผนังอิฐส่วนใหญ่จะรับแรงดันได้ราวๆ 100-200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนพื้นคอนกรีตโดยทั่วไปจะออกแบบให้รับน้ำหนักได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ดังนั้นระดับน้ำที่สูง 1-2 เมตร อาจจะทำให้กำแพงแตกพังทลาย หรือ พื้นรับน้ำหนักมากเกินไปจนแอ่นตัวได้ โดยในช่วงแรกที่น้ำมาล้อมบ้านแต่ยังไม่ได้เข้ามาภายในบ้าน จะมีแรงดันน้ำทางด้านล่างดันให้พื้นแอ่นตัวขึ้นจนพื้นแตก และถ้าเป็นพื้นไม้หรือพื้นสำเร็จที่ไม่ได้เทคอนกรีตทับหน้า ก็อาจจะหลุดลอยน้ำไปได้ แต่เมื่อน้ำไหลเข้าไปภายในบ้านแล้วก็จะเกิดแรงดันน้ำดันพื้นให้แอ่นลง เพื่อรักษาระดับแรงดันของน้ำทั้งด้านในและด้านนอกให้สมดุลกัน

ประเด็นที่ 3 : คาน กับ เสา มีโอกาสแตกร้าวเสียหายแค่ไหน

คาน กับเสาที่มีขนาดเล็กเกินไป เช่น เสาที่มีขนาดเล็กกว่า 20 ซม. และอาคารบ้านจัดสรรที่นิยมใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปอาจมีปัญหาที่รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาประกอบกันเป็นโครงสร้างอาคาร คานกับเสาอาจจะได้รับความเสียหาย โดยอาจสังเกตเห็นรอยแตกร้าวในคานและเสา แต่บางครั้งอย่าเพิ่งกลัวจนเกิดเหตุ บางทีรอยแตกร้าวที่เห็นอาจปรากฎเฉพาะในส่วนที่เป็นผิวปูนฉาบเท่านั้น โดยที่ตัวโครงสร้างจริงๆ อาจจะยังไม่เสียหายก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ หากพบรอยแตกร้าวหรือเนื้อปูกะเทาะออกมา ควรรีบปรึกษาวิศวกร ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ หากเสามีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐานก็อาจหักจนเห็นเหล็กดุ้ง นอกจากนี้โครงสร้างที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน เหล็กเสริมก็อาจเกิดสนิมขึ้นได้เช่นกัน จึงต้องรีบซ่อมแซมมิฉะนั้นอาจล้มจนแก้ไขไม่ทัน

ประเด็นที่ 4 : ฐานรากของอาคารมีโอกาสได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน

ฐานรากของอาคารเป็นส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำโดยตรง จึงมีโอกาสที่จะเสียหายได้มากกว่าโครงสร้างที่อยู่ข้างบนในทางวิศวกรรม ฐานรากมีอยู่สองชนิดคือฐานรากที่วางบนดิน และ ฐานรากที่วางบนเสาเข็ม หากเป็นฐานรากวางบนดินมีโอกาสที่น้ำซึ่งไหลผ่านไปจะกัดเซาะดินใต้ฐานราก ดังนั้นภายหลังจากที่น้ำลดแล้ว ก็อาจจะเห็นฐานรากซึ่งเคยฝังอยู่ใต้ดินโผล่ขึ้นมา ตรงนี้อาจมีผลต่อโครงสร้างได้ เนื่องจากเมื่อดินถูกชะไปจะทำให้ฐานรากทรุดและอาจทำให้โครงสร้างสูญเสียการทรงตัวจนพังทลายได้ ในกรณีที่เป็นฐานรากบนเสาเข็มสั้นๆ กำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มอาจจะลดลงเมื่ออยู่ในดินที่ชุ่มน้ำ ซึ่งอาจทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลงได้เช่นกัน อีกจุดหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงคือฐานรากที่จมอยู่ใต้น้ำ 1-2 เมตร จะเกิดแรงดันน้ำยกบ้านให้ลอยขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีน้ำหนักไม่มากและไม่ได้ใส่เหล็กเดือยยึดเสาเข็มกับฐานรากเข้าไว้ด้วยกัน อาจทำให้ตัวบ้านลอยเคลื่อนออกจากฐานรากซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ส่วนบ้านที่ใช้เสาเข็มยาวๆที่หยั่งลงไปในชั้นดินแข็งที่ระดับลึกๆ และมีเหล็กเดือยยึดระหว่างเสาเข็มและฐานรากก็จะเป็นโครงสร้างที่มีความปลอดภัยสูงกว่า

ประเด็นที่ 5 : ข้อระวังอาคารที่มีชั้นใต้ดิน

อาคารที่มีชั้นใต้ดินอาจมีน้ำท่วมขังนานกว่าปกติ การระบายน้ำออกต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาระดับแรงดันน้ำให้สมดุลทั้งภายในและภายนอกอาคาร หากเร่งระบายน้ำเช่น สูบน้ำออกจากชั้นใต้ดินทันทีทันใด แรงดันน้ำที่อยู่ด้านนอกอาจจะดันให้ผนังหรือกำแพงแตกหักหรือพังทลาย หรือ ทำให้พื้นชั้นใต้ดินแอ่นขึ้นจนแตกได้ทันที เหมือนดังเช่นที่เราใช้หลอดดุดอากาศออกจากกล่องพลาสติกแล้วทำให้แรงดันอากาศภายนอกดันให้กล่องบุบเสียหาย ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มระบายน้ำออกจากชั้นใต้ดินต้องรอให้ระดับน้ำด้านนอกลดลงจนหมดเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยๆระบายน้ำจากชั้นใต้ดินวันละ 0.5 เมตร ทำเครื่องหมายระดับน้ำไว้ จากนั้นวันรุ่งขึ้นเช็คระดับน้ำที่ทำเครื่องหมายไว้ หากระดับน้ำไม่เพิ่มขึ้นให้สูบออกอีก 0.5 เมตรแล้วรอดูวันถัดไป แต่หากระดับน้ำสูงขึ้นแสดงว่าแรงดันน้ำด้านนอกยังสูงอยู่ ต้องรอให้แรงดันน้ำด้านนอกลดลงเสียก่อน จึงจะเริ่มสูบน้ำออกต่อไปได้

ประเด็นที่ 6 : แนวทางการซ่อมแซมอาคารที่เสียหายจากน้ำท่วมเป็นอย่างไร

การซ่อมแซมโครงสร้างอาคารที่ได้รับความเสียหายขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งพอสรุปเป็นแนวทางดังนี้

1.คานและเสา หากมีรอยแตกร้าวแต่ยังไม่ถึงขั้นบิดเบี้ยวเสียรูป อาจซ่อมแซมรอยแตกร้าวด้วยการฉีดกาวอีพอกซีเข้าไปในรอยแตกร้าว และหากเหล็กเสริมเป็นสนิมจำเป็นต้องขัดเอาสนิมออกแล้วทาสีกันสนิม เสริมเหล็กเพิ่มเติมแล้วพอกคอนกรีตกลับไปเช่นเดิม

2.หากเสาหักหรือขาด ต้องรีบให้ช่างหาเสาเหล้กหรือเสาไม้มาตู๊โครงสร้างโดยด่วน เนื่องจากเสาที่หักจะรับน้ำหนักไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นโครงสร้างอาจจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จะต้องรีบปรึกษาวิศวกร การแก้ไขต้องทุบเสาทิ้งและหล่อเสาขึ้นใหม่

3.พื้นหรือกำแพงที่ถูกแรงดันน้ำดันจนแอ่นตัวหรือทรุดตัว จะถือว่าพื้นหรือกำแพงนั้นใช้การไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ หากเป็นกำแพงให้ก่ออิฐขึ้นใหม่ หากเป็นพื้นต้องทุบทิ้งจากนั้นผูกเหล็กแล้วเทคอนกรีตใหม่

4.ในกรณีที่ตัวบ้านหลุดหรือเคลื่อนจากฐานราก จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างมากเพราะเท่ากับว่าบ้านไม่ได้รองรับด้วยฐานรากอีกต่อไป จะต้องยกอาคารและทำฐานรากใหม่ ซึ่งทำเองไม่ได้ ต้องปรึกษาวิศวกรที่ชำนาญทางด้านนี้โดยตรง


ประเด็นที่ 7 : นอกจากโครงสร้างอาคารแล้ว ต้องตรวจสอบอะไรอีกบ้าง

ระบบโครงสร้างอาคารเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆที่ต้องตรวจสอบ เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร แต่ต้องไม่ลืมว่าอาคารบ้านเรือนยังประกอบด้วยระบบบริการอีก 4 ระบบ ได้แก่

1. ระบบงานสถาปัตยกรรม เช่น พื้นปาร์เก้ สีที่ทาผนัง วอลล์เปเปอร์ ประตู หน้าต่าง และอื่นๆ

2. ระบบสุขาภิบาล ได้แก่ ระบบระบายน้ำ และระบบน้ำประปา

3. ระบบไฟฟ้า เช่น ระบบแสงสว่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

4. ระบบเครื่องกล เช่น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ เป็นต้น ระบบพวกนี้ต้องตรวจดูด้วยว่าเสียหายแค่ไหน และต้องเรียกวิศวกรหรือช่างที่ชำนาญมาดูความเสียหาย




เร่งทำความสะอาดบ้าน 24-48 ชั่วโมง หลังน้ำลด


อีกสิ่งที่เป็นปัญหาตามมาหลังน้ำท่วมที่สำคัญก็คือ เชื้อรา ซึ่งจะขึ้นตามที่ต่างๆ และจะก่อให้เกิดโรคต่อคนและสัตว์เลี้ยง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพประชาชน กระทรวงสาธารณสุข มีข้อแนะนำ ให้ทำความสะอาดอาคารที่มีน้ำท่วมขัง นอกจากการล้างทำความสะอาดและเก็บกวาดสิ่งสกปรกแล้ว ควรสำรวจบริเวณบ้านหรือสถานที่ที่น้ำท่วมด้วย เนื่องจาก หากมีน้ำท่วมขังนานกว่า 2 วันขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดเชื้อราขึ้นได้ แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ตาม

จุดที่มักมีเชื้อราขึ้นและซ่อนอยู่ ได้แก่ ใต้พื้น บริเวณฝ้าเพดาน ท่อน้ำที่มีการรั่วซึม ใต้วอลล์เปเปอร์ โดยเฉพาะวัสดุบุผนังที่เป็นไวนิล (vinyl) จะแห้งแต่ภายนอกเท่านั้น แต่จะเก็บกักความชื้นไว้ข้างใต้ ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเชื้อราจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อและระยะเวลาที่สัมผัสกับเชื้อถ้ามีการเจริญของเชื้อมาก และบุคคลที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในห้อง ต้องสัมผัสกับเชื้อหรือสปอร์ของเชื้อราเป็นเวลานาน หากเป็นบุคคลที่สุขภาพแข็งแรงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วจะมีอาการแพ้เชื้อราได้ เช่น โพรงจมูกอักเสบ หรือ เยื่อจมูกอักเสบระคายเคืองที่นัยน์ตา หายใจแรง มีอาการหอบหืด เป็นต้น และหากเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ประจำตัวอยู่แล้ว เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง จะมีความเสี่ยงติดเชื้อและก่อโรคซ้ำซ้อนได้



สำหรับการสังเกตว่าเชื้อราหลังน้ำท่วมหรือไม่นั้น อาจดูด้วยตาเปล่าได้ เช่น ดูที่รอยเปื้อนที่ผนัง และจากกลิ่นโดยกลิ่นเชื้อราเป็นกลิ่นเหม็นอับทึบ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน หากสงสัยว่ามีเชื้อรา ให้ปฏิบัติดังนี้

1.สิ่งของใดที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด ให้ทิ้งไปเลย โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน ไม่สามารถชะล้างและทำให้แห้งได้ จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา โดยเชื้อราที่ตายแล้ว (dead mold) อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้

2.พื้นบ้าน เครื่องเรือน เครื่องไม้ เครื่องมือ เตาอบ ผนังบ้าน สามารถใช้น้ำยาประเภทล้างครัวเรือนผนังห้องน้ำได้ เพื่อขจัดเอาเชื้อโรคเชื้อราที่ฝังตัวออกไป

3.สิ่งของที่ทำด้วยผ้า เช่น เสื้อผ้าที่จมน้ำท่วม หลังซักล้างแล้วให้นำมาต้มฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้

4.จาน ชาม ช้อน ให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจานใหม่ทั้งหมด

5.ให้ทำความสะอาดพื้นและผนัง โดยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ภายใน 24 – 48 ชั่วโมงหลังน้ำลด ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว ทั้งนี้ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันการสัมผัสสูดดม ได้แก่ รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยางสำหรับทำงานบ้าน แว่นป้องกันตา และหน้ากากอนามัย เมื่อขัดล้างเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง หรืออาจใช้ไฟสปอร์ตไลท์ส่องเพื่อช่วยให้แห้งเร็วขึ้น

ทั้งนี้หากพบว่ามีเชื้อราฝังแน่นตามผนัง ไม่สามารถขัดล้างออกได้ ควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรทาสีทับ และหากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศไปพร้อมกันด้วย



ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

What's new
รีวิว 5 รองพื้นผิวโกลว์ บางเบาแต่ปกปิดเนียนกริบ ติดทนตลอดวันรีวิวมาสคาร่าขนตาพลุ ตัวใหม่จาก Maybelline ขนตาพุ่งกระจาย มีวอลลุ่มแบบ 360 องศาCute Press จัดเต็มคอลใหม่! "Wave Up Make Up" 40 ชิ้น จุกๆ แมทช์สนุกสุดทุกสีสัน!ป้ายยาลิควิดบลัชตัวใหม่จาก Gentle Colors เนื้อละมุน เบลนด์ง่าย สีชัดติดทนนานมัดรวม 4 ปีชงปีมะเส็ง มีนักษัตร์ไหนบ้าง พร้อมสถานที่ วิธีแก้ชง 25688 รองพื้นเนื้อบางเบา ได้งานผิวเล่นแสง คุมมัน ไม่หยาไม่อุดตัน10 เจลล้างหน้า ผิวแพ้ง่าย ลดสิว ผิวสะอาดไม่ระคายเคือง หน้ามันก็ใช้ได้ดูดวงความรัก การงาน การเรียน การเงิน ระหว่าง 3 - 9 พ.ย. 67 (ทุกราศี) แต่งหน้ายังไงให้ติดทน? แจก 8 วิธีแต่งหน้าติดทน ไม่เป็นคราบ ฉบับโมเมพาเพลินกิจกรรม :: ชวนทดลองใช้ กันแดด BSC Expert White Spot Protect Sunscreen เผยผิวหน้ากระจ่างใสพร้อมท้าแดด จำนวน 250 รางวัล
COMMENTS