พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงไม่ได้เพียงเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ยังได้ทรงปลูกต้นไม้พระราชทานเอาไว้ทั่วประเทศตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหากนำมาไว้ตรงนี้ทั้งหมดก็คงจะมากมายจนอาจตกสำรวจ แต่หากยกชื่อต้นไม้ซึ่งคุ้นหูคุ้นตาตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยมาให้อ่านกันก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้พวกเรารู้สึกถึงสิ่งหนึ่งซึ่งทรงทิ้งไว้บนแผ่นดินไทย ที่ยังคงเติบใหญ่ให้ร่มเงา ผลิดอก ออกผลไม่จบสิ้น...
"ต้นจามจุรี" ต้นไม้ของพ่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต้นจามจุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ร่มเงาแล้วยังออกดอกสีชมพูสวย สำหรับชาวจุฬาฯ นั้น ต้นจามจุรีที่ออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งคือสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจมานาน ดั่งคำว่า "จามจุรีสีชมพู" และ "จามจุรีศรีจุฬาฯ" ซึ่งในมหาวิทยาลัยจะมีต้นจามจุรีที่ทรงปลูกด้วยพระองค์เองอยู่ 5 ต้น บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึง ความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีที่มีมานานตั้งแต่เริ่มสร้างมหาวิทยาลัย โดยทรงดำรัสว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ และจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด "จึงขอฝากต้นไม้ไว้ 5 ต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล"
"ต้นนนทรี" ต้นไม้ของพ่อในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้นใหญ่ให้ร่มเงาตลอดปี ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปลูกต้นนนทรี ๙ ต้นไว้ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้าหอประชุม มก. แล้วได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ขอฝากต้นไม้ต้นนี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินของไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น"
"ต้นหางนกยูงฝรั่ง" ต้นไม้ของพ่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้นหางนกยูงฝรั่ง เป็นไม้ใหญ่ยืนต้น ดอกมีสีเหลืองแดง ซึ่งนั้นก็เป็นสีสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปลูกต้นหางนกยูงฝรั่งไว้บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จำนวน 5 ต้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 เวลา 14.30 น. พร้อมกับพระราชทานให้ต้นยูงทองเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาคมธรรมศาสตร์มักเรียกเพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ และต้นหางนกยูงฝรั่งว่า ยูงทอง
"ต้นกัลปพฤกษ์" ต้นไม้ของพ่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นไม้ขนาดย่อม ออกดอกสีชมพูสวยบานสะพรั่งซึ่งเมื่อร่วงหล่นจะกลายเป็นสีขาว แต่ก่อนนั้นมีชื่อว่าต้นกัลปพฤกษ์ จึงเปรียบเสมือนต้นไม้แห่งกาลเวลาของชาว มข. เพื่อกัลปพฤกษ์หรือกาลปพฤกษ์นั้นจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงสอบไล่ ใกล้จบการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510
"ต้นประดู่" ต้นไม้ของพ่อในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ต้นประดู่ เป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ออกดอกสีเหลืองหอมตามง่ามใบ จะผลิดอกออกช่อสวยในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย และได้ทรงปลูกต้นประดู่พระราชทาน บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัย ฝั่งถนนศรีจันทร์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยจึงได้ถือเอาวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา
นอกจากต้นไม้ที่ทรงพระราชทานปลูกไว้ตามสถาบันการศึกษาแล้ว พระองค์ยังทรงปลูกต้นไม้ไว้ในอีกหลาย ๆ แห่งที่เสด็จพะราชดำเนินไป เช่น
- ดอกปีบ หรือ ต้นกาสะลอง ที่ทรงปลูกบริเวณสวนป่าทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ต้นพิกุล ที่ทรงปลูกร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร และ ณ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ตามพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ จังหวัดนราธิวาส
แม้ว่าพวกเราจะไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงสถิตย์อยู่ทุกหนทุกแห่งที่ทรงพระราชดำเนินไป อยู่ในหัวใจพวกเรา พระองค์ทรงทำให้พวกเราได้เห็นว่า แม้สักวันหนึ่งเราทุกคนต้องจากไป แต่สิ่งที่เราทำจะไม่ได้จากไปด้วย และหากปักหว่านลงไปในดิน ก็จะเติบโตงอกงามผลิดอก กระจายเกสร เกิดเป็นต้นใหม่ ๆ ไม่รู้จบ ความดีงามก็เช่นกัน เราจึงต้องตามรอยทางของพระองค์ พ่อของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙