เหตุผลที่ทุกคนควรอ่าน...
- เรารู้จักหนังสือของพ่อกันดีแค่ไหน
- หนังสือของพ่อได้กลายเป็นของมีค่าของแผ่นดินที่ควรสะสม
- เพื่อเตือนใจเราว่า...พระองค์ทรงทิ้งสิ่งดีงามไว้ให้พวกเรามากมาย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถรอบด้าน อย่างที่รู้กันไปทั่วโลก ความรู้เรื่องน้ำที่พระองค์ทรงมีนั้นเป็นศาสตร์ แต่การพระราชนิพนธ์นั้นคือศิลป์ แล้วยังเป็นศิลป์ที่เต็มไปด้วยความรู้ แง่คิด ปรัชญาการใช้ชีวิต ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่งดงาม ควรค่าแก่การอ่าน หรือสะสมเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าหากใครได้อ่านงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้ครบ ก็จะยิ่งรู้ซึ้งเหลือเกินว่า ทรงคือกษัตริย์ที่ประชาชนอย่างเราช่างมีบุญเหลือเกินที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินของพระองค์
เล่มที่ 1 "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์"
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แล้วต้องเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ ว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้" แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว นั่นก็คือประโยคจากบันทึกเล่มนี้ของพระองค์เอง บันทึกของในหลวงเป็นเรื่องราวการพระราชดำเนินของพระองค์ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม สามวันก่อนที่จะเสด็จกลับ ไปจนถึงเมืองโลซาน
เล่มที่ 2 "นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ"
เรื่องนี้เป็นกวีนิพนธ์แปลที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้เวลาในการแปล 3 ปี มีจำนวน 501 หน้า ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2536 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนานายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ไม่ใช่หนังสือไทยอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่ทรงแปลมาจาก A man called Intrepid ของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน เรื่องนี้สมควรไปหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงพระปรีชาในการใช้ภาษา ถ้อยคำ เมื่อทรงแปลออกมาได้ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ที่สละสลวย งดงาม ได้อรรถรส
"นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับสงครามลับ ช่วยปี ค.ศ. 1939 –1945 (พ.ศ. 2482 – 2488) ซึ่ง ไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อน แต่เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสันได้รับความไว้วางใจให้นำเรื่องความลับบางอย่างมาเผยแพร่เพื่อเป็นการสดุดีเกียรติคุณของผู้เสียสละหลายด้านที่ทำงานลับเพื่อประเทศชาติ
เล่มที่สาม เป็นพระราชนิพนธ์แปล จากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่ง คือ จอมพลติโต นายกรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์คนแรกที่ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
เรื่องพระมหาชนกนั้น คือพระราชนิพนธ์แปลอีกเรื่อง เป็นเรื่องของพระมหาชนก กษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ผู้ทรงมีความเพียร และถูกทดลองโดยนางมณีเมขลา เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอ่านกันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงแปลเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539 หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลสองภาษา ประกอบด้วยภาพวาดจากศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงภาพฝึพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย จัดพิมพ์โดยบริษัท อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน)
เล่มที่ 5 "พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน"
พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน ได้เกิดขึ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเล็งเห็นว่า เป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน แล้วยังมีการจัดพิมพ์เป็นฉบับอักษรเบรลล์ เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย โดยมี ชัย ราชวัตร เป็นผู้เขียนการ์ตูนประกอบ และทรงมีพระราชดำริให้ใช้ลายเส้นแบบไทย ๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย
เล่มที่ 6 "ทองแดง (The Story of Tongdaeng)"
เรื่องทองแดงนั้น เป็นพระราชนิพนธ์สองภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ขายดีที่สุดในปี พ.ศ.2545 คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวที่ 17 ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีความซื่อสัตย์ เฉลียวฉลาด ลักษณะงดงาม พระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง หนา 84 หน้า ขนาด 17*26 เซนติเมตร พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี ภาพประกอบ 4 สีตลอดทั้งเล่ม
เล่มที่ 7 "ทองแดง ฉบับการ์ตูน"
เช่นเดียวกับพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน ที่มี ชัย ราชวัตร เป็นผู้วาดร่วมกับทีมจิตรกรอีก 3 ท่าน คือ คุณโอม รัชเวทย์, คุณสละ นาคบำรุง และคุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ โดยมีอาจารย์พิษณุศุภนิมิตร เป็นที่ปรึกษาและออกแบบศิลป์
เรื่อง ทองแดง ฉบับการ์ตูน จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อน จำนวน 172 หน้า มีลายเส้นหรือการ์ตูน พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี ภาพพิมพ์ 4 สีตลอดเล่ม พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์ที่ทันสมัย สีสันสดใส ราคาเล่มละ 149 บาท วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์
เล่มที่ 8 "พระราชดำรัส ฉบับภาษาอังกฤษ"
เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัสเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติให้ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน "วันสิ่งแวดล้อมไทย" หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา
ทั้ง 8 เล่ม เป็นหนังสือล้ำค่าที่ควรสะสม แต่หากใครไม่มีโอกาสได้มาสะสม ก็สามารถหาอ่านได้ตามห้องสมุดทั่วไป และนับแต่นี้ไป ทั้ง 8 เล่มที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้น จะกลายเป็นสมบัติล้ำค่า หากไม่มีโอกาสได้สะสม ก็ควรหาอ่านกันให้ครบเถอะค่ะ