“ไบโพลาร์” หลายคนอาจจะได้ยินชื่อโรคนี้ผ่านหูมาบ้าง เพราะดูเป็นอาการป่วยยอดฮิตของดาราหลาย ๆ คน (รวมไปถึงอาการป่วยจริง ๆ อย่างนักร้องชื่อดังด้วย) หลัก ๆ อาการของโรคนี้ก็คือ ภายนอกดูร่าเริงสดใส ตอนมีความสุขก็สุขแบบสุด ๆ แต่อีกด้านคือเมื่อทุกข์ ก็ทุกข์สุด ๆ ฟูมฟายจนดูน่ากลัว เรียกได้ว่าอารมณ์สวิงขึ้นสุดลงสุดจนเราทำตัวไม่ถูก อาการของโรคนี้ที่เราเข้าใจกันมันจริงเท็จแค่ไหนกันนะ? มาทำความรู้จักโรคนี้อย่างถูกต้องกันดีกว่า
ไบโพลาร์คืออะไร?
Bi มีความหมายว่า 2 ส่วน Polar คือ ขั้วที่แตกต่างกัน แต่ในกรณีนี้ Bipolar Disorder มันคืออาการป่วยแบบมีสองขั้วอารมณ์ คือซึมเศร้า (Depress) และร่าเริงหรือก้าวร้าวจนเกินปกติ (Mania) มีละครหลายเรื่องนะที่หยิบไบโพลาร์เข้าไปใส่ในบุคลิกของตัวละคร เพราะเมื่อใครสักคนเกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้วนี้ขึ้นมา สตอรี่จะเกิดได้มากมาย เพราะนอกจากผู้ป่วยจะสร้างความเสียหายให้กับชีวิตตนเองแล้วคนรอบข้างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ขอให้เข้าใจนะคะว่า ผู้ป่วยก็คือผู้ป่วย หากได้รับการรักษาจากแพทย์ก็จะดีกว่าให้สังคมมาคอยตัดสิน
โรคไบโพลาร์นั้นน่าเป็นห่วงผู้ป่วยตรงที่หลายคนรู้สึกสงสารในยามที่พวกเธอเศร้า (อารมณ์ขั้ว Depress) แต่ก็ไม่รักเวลาพวกเธออารมณ์เหวี่ยงมาเป็นร่าเริงหรือก้าวร้าว (อารมณ์ขั้ว Mania) เพราะแม้จะร่าเริง ก็ร่าเริงจนสุดขั้ว อาจเผลอแซวใครแรงๆแบบยั้งไม่อยู่ อาจพลาดไปกลายเป็นสายเมาอาละวาด ติดเหล้า จนถึงติดยาเสพติดได้ด้วย ช่วงนี้พวกเธอจะยั้งไม่อยู่ในหลายสิ่งของชีวิต อาจพีคสุดขึ้นมาเขียนใบลาออกจากงานเพียงเพราะไม่พอใจกับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ คือช่วงขั้วเศร้านี่จะแค่ โอย ฉันทำงานต่อไปไม่ไหวแล้ว แต่ก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไร ตอนอีกขั้วนี่สิ สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้แบบมุทะลุ ทั้งลาออก หย่า บอกเลิกแฟน หรือคอมเมนท์ในโลกโซเชี่ยลให้โดนฟ้อง รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยงมากมาย ยาเสพติด Sex ทะเลาะเบาะแว้ง และฆ่าตัวตาย
แล้วไบโพลาร์มายังไง ทำไมอยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นมนุษย์สองขั้วอารมณ์?
โรคต่าง ๆ ย่อมมีสาเหตุ ถ้าคุณตากฝนไม่รีบทำตัวให้แห้งก็อาจเป็นหวัด สูบบุหรี่หนักก็เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดลม อะไรประมาณนี้ โรคไบโพลาร์ก็เช่นกัน ปัจจุบันทางการแพทย์เชื่อว่าอาจมีสาเหตุจากสิ่งเหล่านี้
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมน การนอนหลับที่ไม่ปกติ ความผิดปกติของสมองในส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์
- มีสาเหตุมาจากสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ เช่น มีปัญหาเข้ามาแล้วปรับตัวรับมือกับความเครียดไม่ได้ ปัจจัยนี้ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรค แต่เป็นตัวกระตุ้นอย่างที่บอก
- เกิดจากกรรมพันธุ์ อาจมีคนในครอบครัวป่วยก็ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน การศึกษาพบว่าโรคไบโพลาร์พบได้บ่อยกับคนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน
อ่าน ๆ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายโรคไบโพลาร์รึเปล่านี่? มา Check list กันสักนิดว่าเราเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า
- เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากเจอหน้าใคร แบบเป็นแบบนี้นานมากเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนไม่หาย สลับกับช่วงร่าเริง
- มองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครชอบเรา คิดว่าคนนั้นก็ไม่ดีคนนี้ก็ไม่ดี คือแทบไม่มีใครดีเลย
- ทำอะไรก็ไม่มีความสุข สิ่งที่เคยทำแล้วสนุกกับมันก็ไม่อีกต่อไปแล้ว
- พลาดพลั้งกับการช้อปไร้สาระตลอดเวลา
- มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนมากเกินไปไม่ค่อยอยากลุกไปทำอะไร หรือนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ
- ขาดสมาธิ จิตใจว่อกแว่ก ไม่สามารถโฟกัสกับการอ่านหนังสือ การทำงาน หรือการพูดคุยได้
- รู้สึกตนเองไร้ค่าบ่อย ๆ กับ อีกด้านที่หลงตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป
- รู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลียผิดปกติ
- อาจน้ำหนักลดเพราะกินอะไรไม่ได้ หรือน้ำหนักเพิ่มเพราะห้ามตัวเองให้หยุดกินไม่ได้
- อยากตาย หรืออาจแค่ไม่อยากตื่น ความสุขหายไปจนรู้สึกหดหู่ไม่อยากมีชีวิตอยู่
ใน 10 ข้อนี้ ใครคิดว่าตัวเองมีแทบทุกข้อหรือเห็นด้วยซะส่วนใหญ่ แนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อรักษาด้วยยาและปรึกษาเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม ปรับวิธีการคิด โรคไบโพลาร์รักษาได้ แต่จะหายขาดหรือไม่นั้นต้องคุยกับคุณหมอดู เพราะบางคนมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไบโพลาร์ โอกาสที่จะเป็นก็มีและแม้หายไม่ขาด ก็สามารถบรรเทาอาการให้เบาบางลงจนสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี ซึ่งก็อาจจะดีมากกว่าคนปกติหลายคนได้ด้วยซ้ำ เพราะคนปกติมักไม่ได้ใส่ใจเรื่องอารมณ์ของตนเองเท่าไหร่ แต่คนป่วยนี้สิที่ได้เรียนรู้ ระมัดระวังอารมณ์ของตนเอง ก็จะช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติและมีความสุขได้อย่างแน่นอน
ความเข้าใจผิดของคนในสังคมต่อผู้ป่วยไบโพลาร์
ไม่ได้บ้านะจ๊ะ ไม่ใช่โรคจิต เป็นโรคทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับสภาพจิต เกิดจากสาเหตุที่บอกไปแล้วข้างบน ไม่ใช่คนที่เป็นทุกข์กับชีวิตแล้วอ่อนแอ ไม่รู้จักทำใจ เอะอะอะไรก็ให้ไปปฏิบัติธรรม เพื่ีอปล่อยวาง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องของการปล่อยวาง แต่เป็นเรื่องของการหลั่งสารเคมีในสมอง ผู้ป่วยขาดสมาธิ ให้ไปฝึกสมาธิก็คงยาก (เพราะคนปกติยังยากเลยเนอะ) เอาเป็นว่า พาพบแพทย์ก่อนดีที่สุด ค่อย ๆ รักษาควบคู่กันไป พยายามหลีกเลี่ยงการแนะนำอะไรประเภท “อย่าอ่อนแอสิ ต้องเข้มแข็งสู้กับโรค” “ปล่อยวางมันบ้าง อย่าไปยึดติด” สำหรับผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ กำลังใจ จากคนใกล้ชิดนี่แหละ
ใช้ชีวิตอย่างไร กับคนเป็น "ไบโพลาร์"
คำแนะนำสำหรับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- รับฟัง ให้กำลังใจ หลีกเลี่ยงคำตำหนิที่รุนแรง
- พาไปออกกำลังกาย เพื่อช่วยเรื่องเคมีในสมองให้ปรับสมดุล
- ระวังในช่วงอารมณ์ก้าวร้าวให้มาก ๆ เพราะช่วงนี้อาจมีการทำร้ายตนเอง หรือใช้เงินฟุ่มเฟือย ตัดสินใจอะไรไม่ยั้งคิด
- พาไปพบจิตแพทย์ และคอยสังเกตว่าผู้ป่วยยอมรับคุณหมอคนนี้หรือไม่ หากยังไม่ใช่ รู้สึกว่าแม้จะไปพบคุณหมอแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนหมอ
- ส่งเสริมกิจกรรมที่ผู้ป่วยมีความสามารถโดดเด่น เช่น วาดรูป ร้องเพลง หรืองานอะไรก็ตามที่ทำแล้วมีความสุข เห็นคุณค่าของตนเอง
- พาไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ เช่นเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ผู้ป่วย หรือช่วยเหลือมูลนิธิใด ๆ
- หากอยากเตือนหรือให้คำแนะนำ ควรทำในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงเศร้า (อารมณ์ขั้ว Depress) ไม่ใช่ช่วงอารมณ์ก้าวร้าว เพราะช่วงนั้นผู้ป่วยจะขาดสติและไม่รับฟัง
เนื้อหาโดย : เว็บรีวิวเครื่องสำอาง cosmenet.in.th