ในความเป็นจริงนั้นอาการป่วยทางสภาพจิตมันสามารถจำแนกแยกแยะออกไปได้หลากหลายมาก หรือบางคนมานั่งอ่านแล้ววินิจฉัยโรคกันไปเองก็อาจเอะอะว่า
ฉันเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว แน่นอน เมื่อวานเศร้า วันนี้ร่าเริงจังเลย ...แนะนำว่าลอง Check list กันก่อนที่บทความนี้
>> Check list 10 ข้อ คุณหรือคนใกล้ตัว เข้าข่ายเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า? << ถ้าตรงหลายข้อก็ไปคุยกับคุณหมอ เพราะถึงเราแม้จะไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว แต่ก็ถือโอกาสได้ระบายให้ผู้เชี่ยวชาญฟัง ไม่ใช่ไปนั่งระบายให้เพื่อนรักฟังอย่างเดียว เพื่อนอาจจะรักเรา คุณหมออาจจะไม่ได้รัก แต่วิธีรับมือกับอารมณ์และรับฟัง วิเคราะห์อาการที่จะช่วยเราได้ก็ต้องคุณหมอนี่แหละ
เพียงแต่หากพบหมอครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า ไม่เห็นใช่ ลองให้โอกาสคุณหมออีกสักครั้งหรือเปลี่ยนหมอ เพราะโรคเหล่านี้จำเป็นต้องพบกับคุณหมอที่แมทช์กับเราด้วยนะคะ ผู้ป่วยหลายคนจึงเปลี่ยนหมอไปหลายคน ส่วนเพื่อนรักนั้น แนะนำว่าควรเป็นเพื่อนรักที่มีทัศนคติไม่ตัดสินผู้อื่น เป็นสาย Positive Thinking คือมนุษย์คิดบวก แม้เพื่อนจะไม่สามารถวิเคราะห์แนะนำอะไรได้อย่างมืออาชีพ แต่ก็จะมีผลด้านบวกต่ออารมณ์ของเราด้วย เรียกได้ว่าไม่พาให้อารมณ์ดิ่งลงไปมากกว่าเดิมนั่นเอง
-----------------------------------------------------------------------
การปฏิบัติตัวที่สำคัญเมื่อเริ่มรู้ตัวว่าฉันรับมือกับมันไม่ไหวแล้ว นอกจากต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยา
ก็คือการพยายามมีสติ และหาหนทางเยียวยาตนเองให้อยู่ได้อย่างปกติที่สุดในชีวิตประจำวัน แนะนำตามนี้เลยค่ะ
-----------------------------------------------------------------------
อยู่ให้ห่างคนขี้บ่น ขี้นินทา ชอบตัดสินผู้อื่นและมองโลกในแง่ลบ
เพราะคน ๆ นี้จะทำให้คนป่วยสะสมความเครียด และอาจได้รับคำแนะนำผิด ๆ ที่นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังทำให้ป่วยหนักไปกว่าเดิม สภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับคนแบบนี้จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก แต่วิธีอยู่ให้ห่างก็ไม่ใช่การเก็บตัวอยู่ในห้องเงียบ ๆ คนเดียวนะคะ ต้องพยายามฉุดตัวเองออกไปหากิจกรรมทำแล้วล่ะ
ดนตรีปรับคลื่นสมองทั้งหลายจะช่วยได้
หรือแค่เปิดเพลงเพราะ ๆ ฟังก็มีความสุขแล้ว แนะนำไม่ใช่เพลงอกหักนะจ๊ะ เปิดพวก What a wonderful world อะไรแบบนี้ หรือพวกที่มีจังหวะครึกครึ้นฟังสบาย ๆ จะพอช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลายบ้าง
สนทนากับคนคิดบวก
คนเหล่านี้จะช่วยให้เราหลุดออกมาจากช่วงเศร้าและทำให้อาการครึกครึ้นร่าเริงสุดขีดเบาบางลง คนคิดบวกเหล่านี้ต้องมีพฤติกรรมดี ๆ ด้วย ไม่ใช่คิดบวกแต่ชวนดื่มเหล้า เข้าบ่อน ก็ไม่ใช่แล้วนะคะ
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยให้เรามีความสุข แนะนำการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะแสงแดดมีผลต่ออารมณ์ของคนเรา สังเกตดูว่าวันว่าครึ้มทะมึนเราก็จะหดหู่ได้เหมือนกัน
ระวังการใช้เงิน
พยายามอย่าเก็บเงินติดตัวไปไหนเยอะ ๆ ไม่งั้นคุณจะช้อปแหลก
สวดมนต์ หรืออธิษฐานก่อนนอน แล้วแต่ว่านับถือศาสนาใด
จะช่วยให้สมองปรับคลื่นที่ทำให้เราสงบได้
อย่าเพิ่งตัดสินใจเรื่องสำคัญตอนที่อารมณ์อาจร่าเริงหรือก้าวร้าว (อารมณ์ด้าน Mania)
พยายามมีสติรู้ตัวว่าเรากำลังมีอารมณ์นี้อยู่นะ อย่าเพิ่งตัดสินใจ อย่าบอกเลิก อย่าลาออก อย่ารับปากเรื่องใหญ่ ๆ
พบจิตแพทย์
อย่ากลัวการพบจิตแพทย์ ให้เราคิดว่าที่เรารู้สึกทุกข์ใจอยู่เป็นอาการของโรคอย่างนึง ถ้าเราป่วย เราเป็นโรค เท่ากับเรามีหนทางรักษาให้หายได้ การไปพบแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ต้องลองผิดลองถูก เราก็จะหายจากอาการป่วยได้เร็วขึ้นนะ
ถ้าพอจะมีเงินก็โทรนัดตาม รพ.เอกชนเลย เพราะคุณหมอจะคุยกับเราได้นานหน่อย ค่าใช้จ่ายประมาณพันกว่าบาทถึงสองพันกว่า แล้วแต่ว่าได้ยาตัวแพงหรือถูก ค่าคุณหมอก็ปกติแล้วแต่ รพ. แต่ถ้าไม่อยากใช้เงินเยอะ รพ.รัฐบาลก็มีจิตแพทย์ ที่รักษาทางนี้โดยเฉพาะก็จะเป็น รพ.สมเด็จเจ้าพระยา ค่าใช้จ่ายหลักร้อยถึงพันกว่า แล้วแต่ยาเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ ขึ้นชื่อว่าอาการป่วย ก็ต้องมีหนทางรักษาให้กลับมาหายเป็นปกติแน่นอน และกำลังใจจากคนใกล้ชิดนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน
หากเรามีผู้ป่วยอยู่ใกล้ตัวละก็ เราควรจะช่วยให้กำลังใจ ช่วยสร้างอารมณ์ด้านบวกให้กับเขา ช่วยให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันค่ะ
เรียบเรียงข้อมูลโดย : cosmenet.in.th