เหงื่อออกเยอะมาก อาจไม่ใช่แค่ขี้ร้อน แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามและควรหมั่นสังเกตุตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการเหงื่อออกเยอะที่หน้า เหงื่อออกมือออกเท้าเยอะ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที แต่ถ้าใครกำลังกังวลว่าอาการเหงื่อออกเยอะของตัวเองผิดปกติหรือไม่ *Cosmenet จะพามาเช็กอาการ พร้อมหาสาเหตุและวิธีรักษาภาวะเหงื่อออกเยอะไปพร้อมกันค่ะ
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ เกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกเยอะ นอกจากการออกกำลังกายและสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยน้า โดยสามารถแบ่งแบ่งตามลักษณะอาการได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Primary Hyperhydrosis)
อาการของคนกลุ่มนี้คือ เหงื่อออกเยอะโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
- กลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis)
อาการของคนเหงื่อออกเยอะจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย จะมีเหงื่อออกในปริมาณมาก โดยเหงื่อจะออกทั่วร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่ตอนนอน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่น ๆ
อาการของภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
- กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Primary Hyperhydrosis)
- มีเหงื่อออกเยอะบริเวณรักแร้ ศีรษะ ใบหน้า หน้า มือ และเท้า
- โดยเหงื่อจะออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งด้านซ้ายและด้านขวาในปริมาณเท่า ๆ กันต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
- อาการเหงื่อออกเยอะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- มักมีเหงื่อออกในช่วงกลางวันแต่จะไม่มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ
- กลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis)
- ปวดศีรษะ มีไข้
- คลื่นไส้ น้ำหนักลด
- หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- มีอาการซึมเศร้า และหลีกหนีสังคม
เหงื่อออกเยอะผิดปกติเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง
สำหรับภาวะเหงื่อออกเยอะกลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis) อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังป่วยด้วยโรคร้าย หรือมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคเหล่านี้
- ภาวะอ้วน
- วัยทองที่อยู่ในช่วงหมดประจำเดือน โดยมักจะมีอาการร้อนวูบวาบร่วมด้วย
- ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ
- เบาหวาน
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- โรคติดเชื้อบางชนิด
- หัวใจขาดเลือด
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- หลอดเลือดสมองอุดตัน
- โรคปอด
- ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ
- ไทรอยด์เป็นพิษ
วิธีรักษาภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติ
1. ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ
ใครที่มีเหงื่อออกเยอะจนตามมาด้วยปัญหาเรื่องกลิ่นตัว แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่ผสมสารลดเหงื่อจำพวกอะลูมิเนียมคลอไรด์ที่มีคุณสมบัติลดการขับเหงื่อ โดยการทำงานของสารตัวนี้คือ เค้าจะละลายตัวบนความชื้นของผิวแล้วเปลี่ยนเป็นเจลเพื่อเคลือบต่อมเหงื่อ ทำให้ช่วยลดการขับเหงื่อได้เป็นอย่างดี แถมยังมาพร้อมกลิ่นหอมสดชื่น ช่วยเพิ่มความมั่นใจตลอดวัน เรียกได้ว่าทั้งช่วยลดเหงื่อและระงับกลิ่นกายในครั้งเดียวเลยค่าา
2. ทายาระงับเหงื่อ
สำหรับทายาระงับเหงื่อเป็นยาชนิดทาภายนอกที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้โปรตีนในผิวหนังตกตะกอน จากนั้นสารจะซึมเข้าไปและเกาะติดในรูต่อมเหงื่อจนทำให้รูอุดตันชั่วคราว และปิดกั้นทางออกของเหงื่อไว้ จึงช่วยลดเหงื่อได้นั่นเองค่ะ โดยสามารถทาได้ทั้งบริเวณไรผม รักแร้ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า เป็นต้น
3. สวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกเยอะอาจเกิดจากการสวมใส่เสื้อผ้าคับหรือรัดรูปจนเกินไป รวมถึงการเลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าหนา แนะนำให้เปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยธรรมชาติ เนื้อบางเบา ระบายอากาศได้ดีอย่าง “ผ้าฝ้าย” และ “ผ้าคอตตอน” ก็จะช่วยระบายเหงื่อได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อน แอลกอฮอล์ และอาหารรสเผ็ด
คนที่มีปัญหาเหงื่อออกเยอะ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อน โดยเฉพาะชาและกาแฟ แอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารรสเผ็ดร้อน เพราะอาหารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งเหงื่อนั่นเองค่าา
5. การฉีดโบท็อกซ์ลดเหงื่อ
การฉีดโบท็อกซ์ลดเหงื่อ ถือเป็นวิธีรักษาภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยคุณหมอจะทำการฉีดโบท็อกซ์ หรือสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ เพื่อควบคุมระบบประสาทที่ทำให้เกิดการหลั่งของเหงื่อ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลการรักษาภายใน 2-4 สัปดาห์หลังฉีด
ปัญหาเหงื่อออกเยอะที่อาจจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่ขอบอกเลยค่ะว่าไม่ควรไว้วางใจเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของโรคร้าย ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากอยู่ ๆ มีภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติ ครวรีบไปพบแพทย์ทันที
ยิ่งเหงื่อออก ยิ่งเสี่ยงทำให้เกิดการสะสมสิ่งอุดตันและทำให้เกิดสิวได้ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ใครกำลังเริ่มมีอาการเหมือนเป็นสิวที่รักแร้ รีบตามมาดู 5 สาเหตุสิวที่รักแร้ และวิธีรักษาสิวที่รักแร้ที่ถูกต้องกันได้เลยย