รดน้ำดำหัว เป็นประเพณีไทยในทุกเทศกาลสงกรานต์ และมักจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันผู้สูงอายุ แต่รู้มั้ย ทำไมต้องดำหัว? ดำหัวทำยังไง มีความหมายว่ายังไงบ้าง สำหรับใครที่ยังไม่รู้ *Cosmenet จะพาไปดูความหมายและความสำคัญของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่กันค่ะ :D
ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คืออะไร จัดขึ้นวันไหน?
ประเพณีรดน้ำดำหัว มักจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนที่เป็นวันมหาสงกรานต์และนับเป็นวันผู้สูงอายุ โดยประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ ขอขมาโทษในช่วงปีที่ผ่านมาหากได้ล่วงเกิน หรือผิดใจอะไรกันไป เป็นประเพณีที่กระชับมิตรคนต่างวัยให้เข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น เสริมความแน่นแฟ้นและกลมเกลียวทั้งในครอบครัวและชุมชนได้นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการสรงน้ำพระในช่วงสงกรานต์ เป็นการชำระล้างสิ่งเก่าๆ ออกไป เริ่มต้นปีใหม่ของไทยด้วยความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ พร้อมได้รับพรจากผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิตด้วยนะคะ ^^
เปิดความหมายของคำว่า “รดน้ำดำหัว”
ทำไมถึงใช้คำว่า รดน้ำ ดำหัว เราดำหัวผู้ใหญ่ยังไง ไปดูความหมายของทั้ง 2 คำกันค่ะ
1. รดน้ำ หมายถึง การรดน้ำลงบนมือของผู้ใหญ่ โดยต้องใช้น้ำอบไทยที่ผสมด้วยดอกไม้เพื่อขอขมา รับพร และอวยพรให้ผู้ใหญ่ค่ะ หรือในบางพื้นที่อาจเป็นการรดน้ำที่ตัว หรืออาบน้ำให้ผู้ใหญ่ในเทศกาลนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ
2. ดำหัว หมายถึง การทำความสะอาดศีรษะ หรือการสระผมนั่นเอง ในสมัยก่อน การดำหัวผู้ใหญ่ ไม่ใช่การจุ่มหัวลงไปในขันหรืออะไรฮาร์ดคอร์แบบที่เราเคยคิดกันค่ะ แต่เป็นการล้างหัว ล้างผม หรือสระผม เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก ชำระล้างสิ่งเก่า ๆ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างบริสุทธิ์และสะอาดตั้งแต่หัวจรดเท้านั่นเอง
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการรดน้ำดําหัวผู้ใหญ่
สำหรับอุปกรณ์ในการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีดังนี้ ~
- น้ำอบไทย หรือน้ำส้มป่อย
- ดอกไม้หรือพวงมาลัย อาทิเช่น มะลิ กุหลาบ ที่ให้กลิ่นหอม
- พานข้าวตอก ธูป เทียน
- ขันใหญ่ใบใหญ่
- ขันใบเล็ก
โดยให้เราผสมน้ำอบไทย เข้ากับดอกไม้ลงในขันใบใหญ่ หากมีน้ำส้มป่อย ให้ผสมลงไปด้วย พร้อม ใช้ขันใบเล็กในการรดน้ำขอพรพร้อมอวยพรให้กับผู้ใหญ่ที่รักและเคารพในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ค่าา หากมีพานข้าวตอก ธูป เทียน เพื่อขอขมาก็ให้นำไปมอบให้ในวันนั้น ๆ ได้เลย หรือใครจะมอบเป็นของขวัญแทนใจก็ได้เช่นกันน
ทำไมวันสงกรานต์มี 3 วัน?
เคยสงสัยมั้ยว่า วันสำคัญของไทย ส่วนมากก็จะมีแค่ 1 วันเท่านั้น แต่ทำไมวันสงกรานต์ถึงกินเวลาถึง 3 วัน เพราะทั้ง 3 วัน มีวันสำคัญซ่อนอยู่!
- 13 เมษายน : วันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ จึงเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์และนับเป็นวันผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบครัวได้กลับมารวมตัวและให้ความสำคัญของคนเฒ่าคนแก่ในบ้านค่ะ
- 14 เมษายน : เป็นวันที่ 2 ของวันสงกรานต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า วันเนา ซึ่งมีความหมายว่า วันอยู่ ซึ่งนับเป็นวันที่พระอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีเมษแล้ว และยังนับเป็นวันครอบครัวไทย เพื่อให้ครอบครับได้อยู่และใช้เวลาด้วยกันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน
- 15 เมษายน : วันเถลิงศก วันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษอย่างสมบูรณ์ แล้ว จึงนับเป็นวันเปลี่ยนศักราชหรือวันขึ้นปีใหม่ไทยนั่นเอง
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และวันสงกรานต์ของไทยมีความสำคัญหรือมีนัยยะเพิ่มเติมที่เราอาจจะคาดไม่ถึงอยู่ด้วยค่ะ เทศกาลปีใหม่นี้ ใครกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวก็ขอให้ขับขี่ปลอดภัย ไปกลับโดยสวัสดิภาพกันน้าา ~