ออฟฟิศซินโดรม แค่ได้ยินชื่อนี้ก็ทำเอาหลายคนปวดร้าวไปถึงปั้นเอวเลยใช่มั้ยล่ะคะ แท้จริงแล้ว "โรคออฟฟิศซินโดรม" คืออะไร เป็นแล้วหายได้หรือไม่ จะต้องทำกายภาพบำบัดหรือเปล่า และจะมีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยให้มนุษย์ปวดหลังอย่างพวกเราหายขาดจากการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมวันนี้เราจะมาบอกกันค่ะ
โรคออฟฟิศซินโดรม คืออะไร ?
ออฟฟิศซินโดรม คือ เหล่าอาการที่พนักงานออฟฟิศอย่างเรานั้นพบเจอในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อและพังผืด รวมไปถึงอาการปวดร้าว ชา จากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็น ในบริเวณที่เราใช้งานซ้ำ ๆ เช่น นิ้วมือที่พิมพ์งานทั้งวัน ข้อมือที่ต้องกดโทรศัพท์ แถมหอบหิ้วกระเช้าไปฝากลูกค้าที่น่าร้ากก แขนที่ต้องขับรถ รวมไปถึงบริเวณคอ บ่า สะบัก หลัง ที่เผชิญแต่ความเมื่อยล้าทั้งวันจากการทำงาน ประชุม อดหลับอดนอนทำพรีเซ้นท์ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรังจากการทำงานหรือทำกิจกรรมในรูปแบบเดิมเป็นเวลานาน ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเองค่ะ
อาการออฟฟิศซินโดรม มีอะไรบ้าง ?
1. ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด บริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง สะโพก รู้สึกเมื่อยล้า และตึงในบริเวณดังกล่าวจากการที่นั่งนาน ๆ นั่งผิดท่า ยืนพักเท้าจนชิน
2. ปวดและชาบริเวณนิ้ว ฝ่ามือ และแขน จากการใช้นิ้วมือพิมพ์งานเป็นเวลานาน และข้อมือไม่ได้รับการซัพพอร์ตที่ถูกต้อง
3. นิ้วล็อค ปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นนิ้วมืออักเสบ มักเกิดกับการพิมพ์แป้นพิมพ์ในโทรศัพท์เป็นเวลานาน ตัวนี้จัดเป็นอาการยอดฮิตเลย
4. อาการตาแห้ง ปวดตา และตาล้า จากการใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์และมือถือนานเกินไป
5. อาการปวดหัว และปวดร้าวตั้งแต่บ่าไปถึงหัวหรือปวดเบ้าตาร่วมด้วย ข้อนี้เป็นการรวมพลังของพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อร่างกายทั้งสิ้น เช่น การนั่งผิดท่า การอดอาหาร การใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและทำให้ปวดหัว จนมีอาการไมเกรนร่วมด้วยได้จ้า
รู้แล้วอย่าทำ! 5 พฤติกรรมที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม
1. นั่งนานเกินไป
เมื่อเดดไลน์มาจ่อรอ หรือมีงานด่วนเข้ามา หลายคนจึงเผลอแช่ตัวกับการทำงานไปเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เพื่อให้งานสำคัญชิ้นนั้นสำเร็จ แต่การนั่งจนนานเกิดไปส่งผลให้ร่างกายของเราเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก และกล้ามเนื้อบางส่วนจะตึงอีกด้วย จึงควรที่จะลุกเดิน เพื่อยืดเส้นยืดสายในการทำงาน ให้คลายเครียด และได้พักสายตาจากการทำงานค่ะ
2. นั่งไขว่ห้าง นั่งหลังค่อม หรือ นั่งทับขาข้างเดียว
ชื่อว่าแต่ละคนก็มีท่าที่นั่งแล้วรู้สึกสบายแตกต่างกันออกไปเช่น นั่งไว้หาง นั่งก้ม นั่งทับขา แต่การนั่งแบบนี้เป็นการนั่งผิดท่าและฝืนสรีะร่างกายนะคะ ซึ่งจะส่งผลตั้งแต่ขา หลัง บ่า และคอของเรารู้สึกปวด เมื่อย ตึง ได้ในระยะยาว นอกจากจะทำให้ร่างกายเราไม่สบายตัว และส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดีแล้ว อาจส่งผลให้เราเกิดความเคยชินและนำไปสู่สภาวะขาไม่เท่ากัน หลังคดงอที่ต้องรักษาเพิ่มเติมอีกนะ อ่านถึงตรงนี้ก็ขอให้นั่งหลังตรง ห้อยขา หาอะไรมาซัพพอร์ตเท้าจะดีกับร่างกายของเรามากกว่าค่า
3.อดอาหาร
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการอดอาหารทำให้เราเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ การตั้งใจทำงาน เผางานจนไฟลุกจนเราเผลอข้ามการทานอาหารไป นับเป็นพฤติกรรมที่ผลักร่างกายไปสู่หน้าผาแห่งความเครียดเลยนะคะ งานหนักแค่ไหนก็ต้องหาเวลาพักทานข้าวทานขนมให้จิตใจแจ่มใสร่างกายสดชื่นกันด้วยนะะ
4. วางอุปกรณ์ทำงานในจุดที่ไม่เหมาะสม
การวางอุปกรณ์การทำงานไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ดไว้สูงไป ต่ำไป หรือไกลเกินไป จะทำให้ร่างกายเราเกิดอาการตึงเครียดเฉพาะจุด ไม่ว่าจะเผลอยื่นหน้าเข้าไปหาจอ ซึ่งส่งผลให้ปวดท้ายทอยและบ่า การวางเมาส์และคีย์บอร์ดไกลเกินไป เราจะเผลอเอื้อมแขนไปโดยไม่รู้ตัวจนทำให้เกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและเมื่อยล้าทั้งแขน บ่า คอ และหลังได้ด้วยจ้า
5. การทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
กลุ่มคนที่มีแนวโน้มต้องทำกิจกรรม และพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง เช่น พนักงานขายที่ต้องยืนตลอด บาริสต้าที่ต้องยืนทั้งวันพร้อมชงกาแฟ/ดริปกาแฟด้วยแขนข้างเดิมทุกวัน พนักงานขับรถที่ต้องนั่งนาน ๆ ใช้แขนและเท้าในการควบคุมรถ พฤติกรรมและกิจกรรมเหล่านี้จึงทำให้เกิดความล้าและตึงเครียดจนส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้
6. พักผ่อนไม่เพียงพอ
การพักผ่อนนับเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เลยค่ะ เมื่อเราแบกงานและความเครียดกลับมา เดดไลน์ที่ถาโถมทำให้เราทำงานและยอมอดหลับอดนอนจะทำให้เราไม่มีเวลาพักผ่อนร่างกายและจิตใจที่เพียงพอนะคะ คนเราควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงร่างกายจะได้ซ่อมแซมตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดีค่าา
รักษา Office Syndrome ยังไง?
การรักษา Office Syndrome สามารถรักษาด้วยตัวเองในระยะสั้นจากการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ และสามารถรักษาด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ จากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
1. รักษาและบรรเทาอาการด้วยตัวเองระยะสั้น
อาการออฟฟิศซินโดรม มีวิธีการรักษาด้วยตัวเองแบบง่ายสุด ๆ ก็คือการปรับพฤติกรรมที่ส่งผลเสียที่เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเครียด และใช้กล้ามเนื้อผิดส่วนออกไปให้หมด ได้แก่
- ยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ ลองลุกเดิน ยืดเส้นยืดสายอย่างจริงจังหลังจากการทำงานช่วงเช้า และช่วงบ่ายเผื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและพักสายตาจากการจ้องจอคอมไปด้วยจ้า
- นวดผ่อนคลาย ระหว่างการทำงาน บีบ ๆ ช่วงบ่า ข้อมือ เพื่อให้เลือดไหลเวียนและกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ผ่อนคลายขึ้น
- การใช้แผ่นแปะแก้ปวด สเปรย์แก้ปวด แผ่นเจลประคบ นับเป็นไอเทมที่วัยรุ่นปวดหลังควรมี เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและความเมื่อยล้าได้จ้า
- การปรับพฤติกรรมการทำงาน กำหนดการพักเป็นกิจจะลักษณะ มีเวลาลุกไปห้องน้ำ ไปพักสายตา ไปทานขนม ให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
- ปรับท่าทางการนั่ง ควรนั่งหลังตรงและพิงพนัก แขนยื่นพอดี หากเก้าอี้มีที่พักแขนด้วยก็จะเริ่ด อย่าลืมห้อยขาทั้งสองข้างอย่าไขว่ห้างน้าา
- เปลี่ยนตำแหน่งการวางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เหมาะกับระดับสายตาและระยะแขนในการทำงาน หาไอเทมรองรับเท้ามาวางเสริมก็ดีนะคะ ตรงนี้จะทำให้เเรานั่งหลังตรง ถูกสรีระและช่วยฟื้นฟูอาการปวดตึงบริเวณหลัง สะบัก บ่า คอได้ดีด้วยจ้า
2. รักษาด้วยแพทย์ นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟู
อาการออฟฟิศซินโดรมที่แก้ด้วยตัวเองคงไม่หายสำหรับชาวปวดหลังที่เกินเยียวยาแล้ว ก็คงต้องได้รับการปรึกษาจากแพทย์ นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง และบอกเลยว่ามีทางเลือกที่หลากหลายสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- กระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า
- ใช้คลื่นกระแทกช็อคเวฟ
- จัดกระดูกสันหลัง
- บำบัดด้วยความเย็นจัด
หากมีอาการออฟฟิศซินโดรมที่รุนแรงและกระทบกับการใช้ชีวิตมาก ๆ *Cosmenet ก็แนะนำว่าปรึกษากับคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยทุเลาอาการและรักษาได้ตรงจุดที่สุดค่ะ เรามีร่างกายเดียวต้องดูแลและถนอมตัวเองให้ดีนะคะ ♥
จุดเริ่มต้นของการดูแลตัวเอง เริ่มได้ที่การนอนหลับที่ดีค่ะ ใครนอนหลับยากต้องอ่านนี่เลย