มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว!! สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ที่มอบสิทธิให้ LGBTQIA+ หรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย ซึ่งส่งผลให้คู่รัก LGBTQIA+ มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
วันนี้ Cosmenet* เลยถือโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิทธิประโยนช์ที่จะได้รับ และขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมให้มากขึ้นกันค่าา~
กฎหมายสมรสเท่าเทียม คืออะไร?
กฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศ โดยเป็นการสมรสที่บุคคลสามารถสมรสและได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นการสมรสระหว่างเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
สิทธิสมรสเท่าเทียม มีอะไรบ้าง?
1. การแต่งงาน : คู่รักสามารถจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย
2. การหย่าร้าง : คู่รักสามารถหย่าร้าง หรือการฟ้องหย่าหากเลี้ยงดูผู้อื่นฉันชู้ และฟ้องค่าทดแทนจากชู้ โดยไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ
3. การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน : ทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการทำงาน หรือด้วยวิธีใด ๆ แต่ละฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการร่วมกัน ตลอดจนแบ่งสินสมรสเมื่อมีเหตุหย่า หรือมีการแยกกันในทางกฎหมาย
4. สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส : เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี, สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม และการบรรจุเป็นข้าราชการในกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่
5. สิทธิการลงนามยินยอมต่อการรักษาพยาบาล : ในกรณีที่ผู้ป่วย (อีกฝ่าย) ไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล คู่สมรสสามารถลงนามยินยอมต่อการรักษาพยาบาลได้
6. การอุปการะบุตรบุญธรรมร่วมกัน : คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ซึ่งเป็นสิทธิในการสร้างครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธิที่รอแก้กฏหมาย
- สิทธิที่ได้สัญชาติตามคู่สมรส
- สิทธิในการทำเด็กหลอดแก้ว
- สิทธิในการอุ้มบุญ
ใครบ้างที่สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้
- บุคลลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- คนไทยสามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกับชาวต่างชาติได้
จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ใช้อะไรบ้าง?
สำหรับคู่รัก LGBTQIA+ ที่ต้องการจะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- หนังสือรับรองโสด (กรณีสมรสกับชาวต่างชาติ)
- ใบสำคัญการหย่าตัวจริง (กรณีเคยจดทะเบียนสมรส)
- พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน)
ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิที่คู่รัก LGBTQIA+ จะได้รับจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม และหากคู่รักคู่ไหนต้องการจดสมรส ก็อย่าลืมเตรียมเอกสารให้ครบนะคะ Cosmenet* ขอแสดงความยินดีกับการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ และยินดีกับคู่รักทุกคู่เลยน้าค้าา~
-----------------------
*Cosmenet Smart Beauty รีวิวดีบอกต่อ
-----------------------
อ่านคอนเทนต์อื่น ๆ เพิ่มเติม
ความรักคือสิ่งสวยงาม...ไม่ว่าจะเพศใดต่างก็มีความรักที่ดีได้ในแบบของตนเอง