ทำไมช่วงนี้ขี้เกียจจังเลย ฟ้าก็หม่น คนก็ซึม เดี๋ยวฝนก็ตก เดี๋ยวแดดก็แรง ปรับตัวไม่ทัน เพลียทุกสภาพอากาศไปเลยค่าา แต่แน่ใจได้ไงว่าที่เป็นอยู่คือความขี้เกียจ ? เพราะจริง ๆ เราอาจไม่ได้ขี้เกียจแต่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลกันรึเปล่า ?
ไปดูกันว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เกิดจากอะไร อันตรายมั้ย แล้วมีอาการอะไรบ้าง รวมถึงวิธีแก้อาการซึมเศร้าตามฤดูกาล ร่างกายกลับมาแอคทีฟกระฉับกระเฉงสดใสสบายตัวเหมือนเดิม ~
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไร?
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) คือความผิดปกติทางอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง และมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันสั้นลงและกลางคืนยาวนานขึ้น หรือในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก แสงแดดน้อย และฟ้าครึ้ม ๆ ตลอดทั้งวัน ในช่วงหน้าร้อนก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะร่างกายต้องทำการปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลจึงเกิดความอ่อนล้าแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนได้ค่ะ
อาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล
โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจะมีอาการเหล่านี้ค่ะ
- ฟุ้งซ่าน รู้สึกคิดมากขึ้นกว่าก่อน
- เฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรเท่าไหร่
- รู้สึกอ่อนเพลีย นอนหลับมาก และมีปัญหาในการนอนหลับ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม
- บางรายอาจมีอาการหิวบ่อย กินจุกจิกแบบที่ไม่เคยเป็น
- รู้สึกขาดสมาธิ จดจ่อไม่ได้
- หลีกเลี่ยงผู้คนและไม่อยากเข้าสังคม
แม้โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จะไม่ได้รุนแรงมากเหมือนโรคซึมเศร้าทั่ว ๆ ไป แต่ก็บอกเลยว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้เราจะไม่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน โดยอาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลนั้น ก็กระทบกับความคิดและสภาพจิตใจอยู่พอสมควรเลยค่ะ แล้วสาเหตุของซึมเศร้าตามฤดูกาลมีอะไรบ้าง ไปดูกันน
สาเหตุของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล
สาเหตุของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ต้องบอกว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากผลสำรวจชี้ให้เห็นสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ ดังนี้ค่ะ
- สภาพอากาศ : ในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาวที่แสงแดดน้อย จะทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ และลดความเครียดนั้นลดลง ส่งผลให้กระทบกับการนอนหลับ และการจัดการอารมณ์ได้ ส่วนในหน้าร้อน แสงแดดที่มากไปก็ทำให้ร่างกายอ่อนล้าจนรู้สึกไม่สบายตัว เหนื่อยหน่าย หดหู่ และไม่กระปรี้กระเปร่าได้ เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลที่เวียนเปลี่ยนไปเสมอนั่นเองค่ะ
- ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง : เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายเราก็ผลิตฮอร์โมนได้ต่างออกไปจากเดิมด้วยค่ะ ยิ่งในช่วงที่แสงแดดน้อย สมองจะผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยในการนอนหลับมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เราง่วงนอนและอ่อนเพลียในตอนกลางวันได้นั่นเองค่ะ หรือในบางรายที่มีภาวะฮอร์โมนแปรปรวนอยู่แล้ว เช่น สาว ๆ ที่ประจำเดือนผิดปกติ ก็อาจเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้บ่อยกว่าคนทั่วไป
- ผู้ป่วยซึมเศร้า : แน่นอนว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ รวมถึงคนที่อยู่ใกล้คนป่วยโรคซึมเศร้ามาก ๆ มีโอกาสที่เคมีในสมอง และฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเด่นชัดกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลทั่ว ๆ ไปค่ะ
แสงแดดมีผลกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ได้ยังไง ?
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เกี่ยวข้องกับแสงแดดได้ยังไงแค่ตากแดดไม่พอ ก็เป็นซึมเศร้าได้แล้วหรอ เกินไปเปล่าา ? ต้องบอกเลยว่า แสงแดดนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับค่ะ โดยแสงแดดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลาโทนินในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายหลับสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฤดูหนาวที่กลางวันสั้นลง ร่างกายจะผลิตเมลาโทนินมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้นอนหลับมากและรู้สึกง่วงในตอนกลางวันจนทำให้อ่อนเพลียได้
นอกจากนี้ แสงแดดยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ โดยแสงแดดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซโรโทนิน ซึ่งจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดความเครียดได้ หากได้รับไม่เพียงพอก็จะทำให้อารมณ์แปรปรวนและเครียดง่ายกว่าเดิมได้ด้วย
ดังนั้น ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลหรือโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จึงอาจเกี่ยวข้องกับการขาดแสงแดดได้เช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายของเราได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ จึงเกิดการการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน ไทรอยด์ และเซโรโทนินในสมองไปนั่นเองค่ะ แนะนำว่าให้นอนหลับให้เพียงพอ และหลังตื่นนอนก็เปิดหน้าต่างรับแสงแดด ช่วง 06.00 - 08.00 น. เมื่อร่างกายได้เจอแสงสว่างและได้รับแดดอย่างเหมาะสม สมองจะรับรู้ว่านี่คือช่วงที่เราจะต้องกระปรี้กระเปร่า และก็จะค่อย ๆ รู้สึกสดชื่นขึ้นได้นั่นเองค่ะ
แก้อาการซึมเศร้าตามฤดูกาลให้กลับมาแอคทีฟอีกครั้ง!
- รับแสงแดดให้มากขึ้น : อาจออกไปเดินในช่วงเช้า 06.00 - 08.00 หรือช่วงเย็น 17.30 เป็นต้นไป เพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น รวมถึงการจัดห้องให้ปลอดโปร่ง และเปิดม่านให้แสงแดดเข้าถึงมากขึ้นจะช่วยลดความอ่อนเพลียระหว่างวันได้มากเลยค่ะ
- ออกกำลังกาย : สุดท้ายแล้ว ขี้เกียจแค่ไหน แต่การได้ขยับร่างกายและการออกกำลังกายยังเป็นทางออกเสมอค่ะ เพราะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และช่วยให้อาการซึมเศร้าตามฤดูกาลดีขึ้น ไม่ต้องโหมออกรุนแรงหรือนานเกินก็ได้ค่ะ แค่วิ่งเหยาะ เดินเร็ว หรือออกกำลังกายในบ้านอย่างน้อย 30 นาทีก็โอเคแล้ว
- เลือกทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว ปลา ไข่ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ร่างกายจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นและยังช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลดีขึ้นอีกด้วย
- นอนหลับให้เพียงพอ : การเข้านอนเร็วและพักผ่อนเพียงพอที่ร่างกายต้องการ ช่วยซ่อมแซมร่างกาย ปรับฮอร์โมน และฟื้นฟูทุก ๆ ด้านได้อย่างดีเยี่ยม โดยผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืนนะคะ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ : งดปาร์ตี้ไปก่อนสักนิดนะคะค เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนและส่งผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลงกว่าเดิม
- ปรึกษาแพทย์ : หากท่านมีอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลและรู้สึกแย่มาก ๆ แก้ไม่หาย อ่อนเพลียทั้งวัน เครียด วิตกกังวล รู้สึกไม่มีความสุข แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะคะ
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และอาจเคยเกิดขึ้นแล้วแต่หลายคนอาจไม่รู้ตัว! เนื่องจากเป็นโรคซึมเศร้าที่อาจเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และมักเกิดขึ้นชั่วคราวจึงสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เพียงเข้าใจและปรับพฤติกรรมให้ร่างกายกระปี้กระเป่าขึ้นก็จะรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิมได้แล้วค่ะ จะแตกต่างจากโรคซึมเศร้าที่เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติน้าา หากรู้สึกแย่มาก ๆ แนะนำให้โทรติดต่อ 1323 หรือ ♥ จิ้มที่นี่ ♥ เพื่อปรึกษากรมสุขภาพจิตเพิ่มเติมค่ะ
เช้าวันจันทร์ทีไร ใจมันหดหู่ทุกที จะแก้อาการนี้ยังไง ไปดูกันเลย!